กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--ซีฮอร์ส
ผู้บริหาร SH ยืนยันมีความตั้งใจจริงในการบริหารงานและพลิกฟื้นฐานะกิจการของบริษัทให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง เชื่อแผนลงทุนสร้างโรงงานเอทานอลเป็นโครงการที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี น่าจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ และผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นในอนาคต คาดจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2551
นายชาตรี มหัทธนาดุลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน)(SH) เปิดเผยว่าคณะกรรมการของบริษัทมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างสูงที่จะพลิกฟื้นฐานะกิจการของบริษัทให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ดังนั้นจึงตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ขนาดกำลังการผลิต 1.5 ล้านลิตรต่อวัน เพราะมั่นใจว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ และผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นในอนาคต
"ธุรกิจเดิมของ SH คืออาหารทะเลส่งออก เราก็ไม่ได้ทิ้ง ยังดำเนินการเป็นปกติเหมือนเดิม ซึ่งสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ถือว่าค่อนข้างลำบากจากหลายปัจจัยที่กดดันทั้งเงินบาทแข็งค่า และราคาวัตถุดิบสูงขึ้นเป็นต้น คณะกรรมการจึงมองหาธุรกิจใหม่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจากการพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า การลงทุนสร้างโรงงาน เอทานอล เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เชื่อว่าจะช่วยให้ฐานะของบริษัทดีขึ้น และสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับทุกฝ่ายได้ "นายชาตรีกล่าวในที่สุด
นายสมโภชน์ อาหุนัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน)(SH) กล่าวเสริมว่าการตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอทานอลโดยบริษัทเองในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำธุรกิจอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นบริษัทจะต้องดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานต่อหน่วยงานราชการก่อน ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการขออนุญาตจนถึงวันที่ได้รับอนุญาตนั้น ขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย บริษัทก็จะลงมือทำงานอย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโรงงานประมาณ 18 เดือน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าโรงงานเอทานอลของซีฮอร์สจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2551 "
ทั้งนี้ คาดว่าจะสร้างโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา บนเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ (ไม่รวมพื้นที่สนับสนุนอื่นๆ) โดยจะใช้ที่ดินที่อยู่ในสิทธิการถือครองของ บริษัท บุญอเนก จำกัด ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ส่วนวัตถุดิบหลักในการผลิตจะใช้มันสัมปะหลัง ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้จากแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก และเชื่อว่าจะสามารถจัดหาได้อย่างพอเพียงต่อความต้องการ
เขากล่าวต่อในช่วงท้ายถึงภาวะภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเอทานอลว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ยกเลิกข้อกำหนดเดิม คือยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 เนื่องจากปริมาณการผลิตแก๊สโซฮอลยังไม่สามารถรองรับ
ความต้องการของผู้ใช้ได้ ตลอดจนการสนับสนุนให้ราคาจำหน่ายแก๊สโซฮอลให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ในอัตรา 1.50 บาทต่อลิตร รวมถึงการเปิดเสรีในการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อเพิ่มปริมาณอุปทานในตลาด จากปัจจัยดังกล่าว ย่อมจะส่งผลให้ในอนาคตอาจเกิดภาวะการแข่งขันในประเทศที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะผลิตเอทานอลเพื่อจำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่มองไปที่ตลาดต่างประเทศด้วยซึ่งเปิดกว้างและยังมีความต้องการสูง นอกจากนี้บริษัทเห็นว่าในระยะยาวแนวโน้มของพลังงานธรรมชาติที่เน้นในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และจะเป็นผลดีกับธุรกิจพลังงานทดแทน
สอบถามรายละเอียด
ณัฐพงษ์ ใจแกล้ว
081-4010226 / 083-9828244