กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นแผน PDP 2007 มีประชาชนและผู้เกี่ยวข้องตอบรับถึง 400 คน เชื่อมั่นจะเป็นแผน PDP ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จะมีเงินพัฒนาชุมชนปีละ 50-130 ล้านบาท
วันอังคารที่ 3 เมษายน 2550 กระทรวงพลังงาน จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์โซน C สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ผลิตไฟฟ้า องค์กรภาคเอกชน (NGO) นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นต่อการวางแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น 400 คน
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาในวันนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้ PDP 2007 เป็นแผนที่ทุกฝ่ายและประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 ได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งในส่วนนโยบายดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและมีความคิดเห็นในประเด็นที่แตกต่างกัน จึงกำหนดให้มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ เพื่อเชิญนักวิชาการด้านพลังงาน องค์กรอิสระ (NGO) โดยเฉพาะประชาชน หรือตัวแทนของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และรับทราบนโยบายของภาครัฐถึงวิธีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)
นอกจากนั้น ในการสัมมนาครั้งนี้จะมีการเสนอแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยจะจัดเก็บเงินจากโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าเก่า เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า โดยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน ในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับครอบครัวผู้ที่ได้รับประโยชน์ และนำไปพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
สำหรับแนวทางการเก็บเงิน หากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะเรียกเก็บขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี นับจากวันเริ่มก่อสร้างจนถึงวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เช่น โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ประมาณ 21 ล้านบาทต่อปี และภายหลังการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ทุกโรงไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินขั้นต่ำ 1 สตางค์ต่อหน่วยของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสมทบกองทุนฯ โดยขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้ เช่น ถ้าเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จะเรียกเก็บที่ 1 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นปีละ 52 ล้านบาท ส่วนกรณีถ้าเป็นถ่านหินจะเรียกเก็บที่ 2.50 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นปีละ 130 ล้านบาท
“ภายหลังการจัดสัมมนาวันนี้ กระทรวงพลังงานจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณาปรับปรุงแผน PDP 2007 ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศต่อไป” นายณอคุณ กล่าว