กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--สสวท.
ค่ายดาราศาสตร์-วิทยาศาสตร์สัญจร ครั้งที่ 1 : ดูดาวแบบหนาว ๆ ยลโฉมดวงจันทร์และดาวเสาร์
โดยวิชาการดอทคอม...... อยากดูดาว เราจัดให้
ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.
(พิเชษฐ กิจธารา และสินีนาฎ ทาบึงกาฬ / รายงาน)
ดวงดาวเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราได้เรียนกันตั้งแต่สมัยยังเด็ก และหลายคนก็คงเคยฟังนิทานเกี่ยวกับดวงดาวก่อนเข้านอน ดวงดาวบนท้องฟ้า ยังเป็นเรื่องปริศนาที่ผู้คนยังคงเฝ้ามองและครุ่นคิด ไม่ว่าจะเป็นนักดูดาวแบบเอาโรแมนติก หรือนักดูดาวแบบวิชาการ
ข่าวคราวสำคัญ ๆ เกี่ยวกับดวงดาวที่นำเสนอแต่ละครั้ง ก็จุดประกายความสนใจจากผู้คนทั่วโลกได้ ไม่ว่าจะเป็น สุริยุปราคา ฝนดาวตก อุตกาบาต และอื่น ๆ และล่าสุดก็ข่าวคราวของดาวพลูโตนั่นไง
หากจะมองว่าดวงดาวเป็นเรื่องไกลตัวก็คงไม่ได้แล้ว เพราะถึงแม้ระยะทางของดวงดาวต่าง ๆ จะอยู่ห่างจากโลกมากมาย แต่ดวงดาวเหล่านี้ต่างก็มีอิทธิพลหรือผลกระทบต่อโลกของเรา
เว็บไซต์วิชาการดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สนับสนุนโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน จัดค่ายดาราศาสตร์-วิทยาศาสตร์สัญจร ครั้งที่ 1 ที่โรงเรียนโพธิ์ชัยพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเวลา 1 วัน และ 1 คืน
ทีมงาน ประกอบด้วย อาจารย์และนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดยอาจารย์ สุจินต์ วังสุยะ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์มณีเนตร เวชกามา ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร. พิเชษฐ กิจธารา ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำกล้องดูดาวไปให้นักเรียนได้ดูด้วยตาตนเองเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดวงดาวและเอกภพ นอกจากนี้การได้พูดคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและพี่ๆปริญญาโทยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น
นักเรียนที่ร่วมกิจกรรมทั้งหมด 180 คน แบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อย ๆ โดยในช่วงเช้าได้หมุนเวียนเข้ารับฟังการบรรยายจากอาจารย์และพี่ ๆ วิทยากรในบรรยากาศสบาย ๆ ใต้ร่มเงาไม้ หัวข้อในการบรรยายมีทั้งหมด 3 หัวข้อ ได้แก่
เอกภพวิทยา เป็นการบรรยายเกี่ยวกับการกำเนิดเอกภพและการค้นพบที่สำคัญๆต่างของนักฟิสิกส์ เช่น การค้นพบของ Edwin Hubble (1929) ว่ากาแลกซี่กำลังเคลื่อนที่ออกจากกัน ซึ่งทำให้ Fred Hoyle (1950s) ได้แนวคิดว่าหากย้อนเวลากลับจะพบว่าเอกภพต้องมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบันมาก หรือว่าเอกภพต้องมีจุดกำเนิดอย่างที่เรารู้จักกันว่า Big Bang เมื่อประมาณ 15 พันล้านปีที่แล้ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันการกำเนิดเอกภพหรือ Big Bang ก็คือ Cosmic Microwave Background หรือรังสีแบ็คกราวด์ที่มีอุณหภูมิประมาณ 2.7K และสามารถตรวจพบได้ทุกทิศทุกทาง
วิวัฒนาการของดาวฤกษ์ เป็นการบรรยายถึงการเกิดการการดับของดาวฤกษ์ในจักรวาลของเรา ซึ่งทั้งหมดเกิดมาจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นมารวมตัวกันภายใต้แรงโน้มถ่วงของมันเอก เมื่อเกิดความดันและการเสียดสีจะทำให้บริเวณแกนกลางมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนสามารถเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์เป็นดาวฤกษ์ปลดปล่อยแสงสว่างออกมา ซึ่งปฏิกิริยานิวเคลียร์ของไฮโดรเจนนี้จะเกิดขึ้นเกือบตลอดช่วงชีวิตของดาวนั้นจนกระทั่งไฮโดรเจนถูกใช้หมดไป
หลังจากนั้นดาวฤกษ์ก็จะถึงจุดจบซึ่งชะตากรรมของมันขึ้นอยู่กับว่ามันมวลมากแค่ไหน หากมวลไม่มากนัก (เช่นดวงอาทิตย์ของเรา) ก็จะเริ่มขยายตัวด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนกลายเป็นดาวยักษ์แดง หรือ Red Giant (เมื่อดวงอาทิตย์กลายเป็นดาวยักษ์แดงรัศมีของมันจะใหญ่เท่าวงโคจรของดาวอังคาร นั่นคือมันจะกลืนโลกไปด้วย) หรือหากดาวฤกษ์มีมวลมากพอเปลือกนอกของมันก็จะเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ทำให้แกนกลางของมันยุบลงไปกลายเป็นดาวนิวตรอนที่มีความหนาแน่นสูง หรือ อาจกลายเป็นหลุมดำขนาดมหึมาที่คอยดูดผู้โชคร้ายที่บังเอิญผ่านเข้ามาใกล้
การดูดาวเบื้องต้น เป็นการบรรยายชื่อดาวสำคัญๆกลุ่มดาวจักราศีต่างๆบนท้องฟ้าที่หมุนเวียนกันมาปรากฏบนท้องฟ้าที่ตำแหน่งและเวลาต่างๆกันตามการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์
กิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการเสริมความรู้ด้วยการทดลองทางฟิสิกส์สนุกๆ โดยมีการทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กและโฟโตอิเล็กตริก อาทิ ทดลองสร้างมอเตอร์ด้วยตนเอง อุปกรณ์ที่ให้ แม่เหล็กทรงกระบอก ลวดทองแดง ถ่านไฟฉาย เข็มกลัด ล้อแม่เหล็ก หลังจากสร้างเสร็จแล้ว น้องๆก็นำ Gauss’s Rifle (ปืนแม่เหล็ก) มายิงแข่งกันว่าของใครไปไกลที่สุด
หลังจากนั้นในตอนเย็นใกล้ค่ำทีมงานก็เริ่มนำกล้องมาตั้งบริเวณสนามหน้าเสาธงเพื่อดูดาว กล้องทั้งหมดมีสองชุด เป็นกล้องแบบหักเหและสะท้อน (Schmidt & Cassegrain) กำลังขยาย 100 เท่า หน้ากล้องขนาด 8 นิ้ว ซึ่งเป็นกล้องของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกล้องดูดาวขนาดเล็กของอาจารย์สุจินต์ คืนนี้ค่อนข้างน่าเสียดายที่พระจันทร์ลับขอบฟ้าไปตั้งแต่ตอน 2 ทุ่ม ทำให้ชาวค่าย อดเห็นผิวอันขรุขระด้วยหลุมอุกาบาตของดวงจันทร์ แต่ด้วยกล้องกำลังขยายสูงเราก็สามารถเห็นเนบิวล่า Orion อันสวยงามได้ไม่ยากนัก และหลังเวลา 4 ทุ่มดาวเสาร์ก็โผล่พ้นทิวไม้ให้ได้ยลโฉมกัน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของเหล่านักเรียนที่เข้าแถวรอดู
ขณะรอคิวดูดาว นักเรียนส่วนหนึ่งก็มาฟังอาจารย์มณีเนตรบรรยายแผนที่ดาวด้วย อากาศในวันนั้นค่อนข้างหนาวเหน็บทีเดียว นักเรียนส่วนใหญ่เกาะกลุ่มเบียดกันภายใต้ผ้าห่ม หลังจากที่ทุกคนได้ฟังอาจารย์มณีเนตรบรรยายและดูดาวกันจนถึงเที่ยงคืนจนเริ่มหมดแรงกันแล้วก็เป็นอันว่าการเข้าค่ายครั้งนี้ได้สิ้นสุดลง
หากคุณครูโรงเรียนต่างจังหวัดท่านใดเห็นว่าค่ายดาราศาสตร์สัญจรนี้มีประโยชน์และอยากจัดค่ายให้กับนักเรียนของท่าน ติดต่อได้โดยตรงที่เว็บไซต์วิชาการดอทคอม www.vcharkarn.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net