อาเซียน-อียู เห็นชอบจัดทำค้าเสรีระหว่างกันแล้ว

ข่าวทั่วไป Wednesday May 9, 2007 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ก.พาณิชย์
รมต.เศรษฐกิจอาเซียน เตรียมเสนอลงนามพิมพ์เขียวแผนการดำเนินงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน เดือนพฤศจิกายน ศกนี้ รวมทั้งเห็นชอบตั้ง กก.ร่วมกำหนดกรอบเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-อียู
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2550 ณ กรุงบันดาเสรี เบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
ที่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของอาเซียน และการทำ FTA ของอาเซียนกับประเทศต่างๆ โดยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)
- ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการยกร่างกฎบัตรอาเซียนโดยคณะทำงานระดับสูงภายใต้กรอบกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผู้นำอาเซียนมีมติให้มีการร่างธรรมนูญของอาเซียนขึ้นเพื่อวางกรอบทางกฎหมายและปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรรองรับการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก (ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) ภายในปี ค.ศ. 2015 และกำหนดที่จะนำเสนอผู้นำอาเซียนพิจารณาลงนามในปลายปีนี้
- นอกจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจต่อข้อบทของกฎบัตรอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้กับคณะผู้ยกร่าง นอกจากนี้ หลายประเทศรวมทั้งไทยเห็นว่า ควรเพิ่มความเห็นในเรื่องความสำคัญของการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อให้สามารถสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบเลขาธิการอาเซียนจัดทำข้อเสนอในเรื่องนี้ และนำเสนอที่ประชุม AEM ครั้งต่อไปเพื่อพิจารณา
แผนงานการดำเนินการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint)
- ที่ประชุมเห็นชอบให้ AEC Blueprint ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวของแผนการดำเนินงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเอกสารที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายและจะนำเสนอผู้นำอาเซียนพิจารณาลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
- แผนงานใน AEC Blueprint จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานกว่า 40 แห่งของไทย กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อรับผิดชอบให้มีการปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
- นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับปรุงกรอบความตกลงด้านการลงทุน (AIA) เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีมติให้คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนของอาเซียนเร่งหารือในรายละเอียดเพื่อนำเสนอกรอบความ ตกลงฉบับใหม่ต่อที่ประชุม AIA Council พิจารณาภายในเดือนสิงหาคม ศกนี้
อาเซียน-EU รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการการค้ายุโรป (นาย Peter Mandelson) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะจัดทำเขตการค้าเสรี(FTA)ระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป (EU)และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดของรูปแบบการเจรจา กรอบการเจรจา และระยะเวลาการเจรจา
อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ประชุมรับหลักการในข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้าของญี่ปุ่น และมอบหมายเจ้าหน้าที่ไปจัดทำรายละเอียด รวมทั้งการแลกเปลี่ยนตารางการเปิดตลาดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอ่อนไหวให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะสามารถสรุปผลการเจรจาภายในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้ ซึ่งการเปิดตลาดของญี่ปุ่นภายในกรอบอาเซียนจะทำให้ไทยได้ประโยชน์มากขึ้นในสินค้าบางรายการที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อผูกพันทวิภาคี
การยอมรับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด (Full Market Economy) ของเวียดนาม ที่ประชุมสนับสนุนให้อาเซียนยอมรับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดตามที่เวียดนามร้องขอ เนื่องจากเวียดนามมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่เข้มแข็งขึ้นแล้ว และประกอบกับอาเซียนได้ประกาศยอมรับสถานะดังกล่าวให้กับจีนก่อนหน้านี้แล้วด้วย
อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2549 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 50,419.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.5% นับเป็นตลาดที่สำคัญยิ่ง อาเซียนจะต้องเร่งการเปิดตลาดระหว่างกันเพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและดึงดูดการลงทุนแข่งกับภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป และ NAFTA ซึ่งมีการรวมตัวและเปิดตลาดให้แก่กันอย่างสมบูรณ์แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ