กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สกว.
สกว. เผยนักวิจัยไทยคิดค้นเครื่องเคลือบธาตุอาหารบนเม็ดข้าวได้สำเร็จ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะเด็กไทยขาดสารไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี โดยได้จดสิทธิบัตรเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งได้นำน้อมเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงความสำเร็จโครงการวิจัยเครื่องเคลือบธาตุอาหารบนเม็ดข้าวว่า เครื่องเคลือบข้าวเป็นผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือจากนักวิจัยจากหลายหน่วยงาน โดยมี รศ. ดร. วรรณา ตุลยธัญ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ค้นคว้ากระบวนการนำธาตุไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี มาเคลือบในเม็ดข้าว และ รศ. ดร.วินิต ชินสุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้สร้างเครื่องผลิตข้าวเคลือบแร่ธาตุอาหาร โดยโครงการวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดสารธาตุอาหารของคนไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีภาวะขาดธาตุอาหารสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี
สำหรับเครื่องผลิตข้าวเคลือบแร่ธาตุอาหาร ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย และได้น้อมเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งท่านพระราชทานเครื่องผลิตข้าวเคลือบแร่ธาตุอาหาร เพื่อเป็นประโยชน์แก่เด็กๆ ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ไว้ใช้ในโรงสีข้าวของโรงเรียน นอกจากนี้ ทางสกว.มีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการ และนักวิจัย เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่เคลือบธาตุอาหารทั้ง 3 ชนิด โดยในอนาคตมีแผนเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมเพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่อไป
รศ.ดร. จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย คือการขาดสารอาหารและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยที่ขาดธาตุไอโอดีน เหล็ก และสังกะสีเป็นอย่างมาก ซึ่งการขาดธาตุไอโอดีนอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนทั้งในมารดาและทารกจึงทำให้เกิดภาวะสมองพิการแต่กำเนิด หรือที่เรียกกันว่า “โรคเอ๋อ” โดยจากการศึกษาของหลายประเทศพบว่า โรคขาดสารไอโอดีนทำให้ระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ขาดสารไอโอดีนลดลงโดยเฉลี่ยถึง 13.5 หน่วยไอคิว (IQ: Intelligent Quotient) ดังนั้น การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่เม็ดข้าว ด้วยการเคลือบธาตุเหล่านั้นบนเม็ดข้าวน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม และสามารถปฏิบัติได้ง่าย ทาง สกว.จึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาวิธีการดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทยอันเนื่องมาจากภาวะการขาดธาตุอาหารที่จำเป็น
รศ. ดร.วรรณา ตุลยธัญ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัย กล่าวว่า กรรมวิธีเคลือบข้าวสารด้วยธาตุไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี เป็นการทำงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มคุณภาพการสี โดยการใช้จุลธาตุบางชนิด และการเสริมธาตุไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี บนเม็ดข้าว และผลิตภัณฑ์แป้งข้าว” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ คือประชาชน และเด็กในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีเด็กขาดสารไอโอดีนมากที่สุดของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารประจำวัน การวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการเคลือบเม็ดข้าวเหนียวด้วย โดยธาตุอาหารที่เคลือบไว้บนผิวเม็ดข้าวสาร จะต้องไม่ถูกชะล้างออกไปในระหว่างการแช่และการหุง รวมทั้งต้องมีอายุการเก็บรักษาได้ยาวนานโดยไม่เสื่อมคุณภาพ
ด้านรศ.ดร. วินิต ชินสุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะนักวิจัย กล่าวว่า เครื่องผลิตข้าวเคลือบแร่ธาตุอาหาร เป็นการต่อยอดกระบวนการคิดของ อาจารย์ วรรณา ตุลยธัญ ผู้คิดค้นวิธีการเพิ่มธาตุอาหารให้กับเม็ดข้าว ซึ่งโจทย์ของการวิจัย ต้องคิดต่อว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวเคลือบธาตุอาหาร เกิดการผลิตได้จริงในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือชุมชน และด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องผลิตข้าวเคลือบแร่ธาตุอาหารดังกล่าวขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเครื่องเคลือบข้าวต้นแบบไว้ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดย่อม
สำหรับเครื่องผลิตข้าวเคลือบแร่ธาตุอาหารนี้ ตัวเครื่องทำจากเหล็กปลอดสนิม และทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเคลือบมากกว่า 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ขณะที่ปริมาณความชื้นของข้าวหลังการเคลือบเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ซึ่งหากโรงสีเคลือบข้าวสารประมาณ 200 ตันต่อปี จะมีค่าใช้จ่าย 480 บาทต่อตัน หากใช้งานเชิงพาณิชย์ จะมีค่าใช้จ่ายตกประมาณ 300 บาทต่อตัน ทั้งนี้ไม่รวมสารเคมีที่ใช้เคลือบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ข้าวเคลือบที่ได้ ลักษณะของเม็ดข้าวสาร จะไม่แตกต่างจากข้าวสารปกติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
โทร 0-2439-4600 ต่อ8203, 081-668-9239