กระทรวงพลังงาน ประสบความสำเร็จในการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น

ข่าวทั่วไป Friday August 24, 2007 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน ประสบความสำเร็จในการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า พ.ศ. ....” ใน 5 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ และมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังสัมมนากว่า 1,000 คน
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสระบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดลำปาง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ประสบความสำเร็จ มีประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังสัมมนาและแสดงความคิดเห็น เป็นจำนวนกว่า 1,000 คน
สำหรับบรรยากาศในการจัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเป็นไปด้วยดี ทั้งใน 5 จังหวัด ซึ่งประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า พร้อมได้เสนอ แนะให้กระทรวงพลังงานกำหนดพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในให้ชัดเจนมีตำบลใดบ้างที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้า และขอให้มีผู้แทนจากภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน ร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย และในกรณีที่โรงไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นและส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งทางชุมชนสามารถเบิกเงินจากกองทุนดังกล่าวมาบรรเทาความเดือดร้อนในระดับเบื้องต้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงและรับข้อเสนอของประชาชนทั้ง 5 จังหวัด มาพิจารณาว่าข้อเสนอดังกล่าวของประชาชน นั้นอยู่ในขอบเขตและหน้าที่ในการจัดตั้งกองทุนครบถ้วนหรือยัง นายณอคุณ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยการให้เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือแก่ชุมชนในด้านต่างๆเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน
“จากประมาณการเบื้องต้นของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2551จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ รวมประมาณ 1,887 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งตามกรอบของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมในชุมชนเป็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาอาชีพ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม กีฬา และดนตรี หรือการสาธารณสุขและพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรือเป็นเพื่อบรรเทาความเสียหายทันทีหากเกิดผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้า หรือาจใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับครอบครัวในชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าก็ได้” นายณอคุณ กล่าว
นายณอคุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการจัดตั้งกองทุน จำนวน 109 กองทุน ใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ ซึ่งจะแตกต่างกันตามประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์ต่อหน่วย น้ำมันเตา/ดีเซล 1.5 สตางค์ต่อหน่วย ถ่านหิน/ลิกไนต์ 2 สตางค์ต่อหน่วย และหากเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ชีวมวล กากเศษวัสดุเหลือใช้ และขยะ 1 สตางค์ต่อหน่วย และพลังน้ำ 2 สตางค์ต่อหน่วย ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 700 เมกะวัตต์จะเก็บเงินเข้ากองทุนฯได้ถึงปีละ 100 ล้านบาท ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกะวัตต์จะเก็บเงินเข้ากองทุนฯได้ปีละ 50 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ