กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โชว์นวัตกรรมใหม่ “จักรอัลทราโซนิกส์…เครื่องแรกของประเทศไทย” มีประสิทธิภาพเย็บวัสดุโดยไม่ใช้ด้าย/เข็ม ไม่ทำให้เกิดรูของรอยตะเข็บบนชิ้นงาน สามารถประยุกต์ใช้สำหรับตัดหรือกรีดเนื้อวัสดุได้ทัดเทียมเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายวิศวกรรม วว. ประสบความสำเร็จในการออกแบบและผลิต “จักรอัลทราโซนิกส์...เครื่องแรกของประเทศไทย” โดยการประยุกต์ใช้เทคนิกการผนึกและเชื่อมวัสดุด้วยอัลทราโซนิกส์แบบต่อเนื่อง สามารถเย็บวัสดุที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ โดยไม่ใช้เข็มและด้าย ผลของการเย็บวัสดุด้วยอัลทราโซนิกส์จะไม่ทำให้เกิดรูของรอยตะเข็บบนเนื้อวัสดุ ทำให้รอยตะเข็บมีความแข็งแรง นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้เครื่องสำหรับตัดหรือกรีดเนื้อวัสดุได้ โดยรอยแยกทั้งสองข้างที่เกิดขึ้น จะถูกผนึกเพื่อป้องกันการหลุดลุ่ยของเศษใยที่เกิดขึ้นด้วย
นายยุทธนา ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิศวกรรม วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า จักรอัลทราโซนิกส์ ผลิตจากวัสดุภายในประเทศ มีขนาดเครื่อง (กว้าง*ยาว*สูง) 45 x 80 x 80 เซ็นติเมตร เครื่องมีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม ใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ 50 เฮิร์ต 500 วัตต์ ความดันลม 3-6 บาร์ ความถี่อัลทราโซนิกส์ 28 กิโลเฮิร์ต ความเร็วในการเย็บ 10-500 เซ็นติเมตรต่อนาที สามารถปรับค่าความเร็วการเย็บและปรับเปลี่ยนลวดลายเย็บบนวงล้อได้ การทำงานของเครื่องเป็นระบบกึ่ง อัตโนมัติ ควบคุมด้วย PLC (Programmable Logic Controller) แบบหน้าจอสัมผัส ซึ่งสะดวกในการปรับตั้งค่าพารามิเตอร์และเก็บข้อมูลการทำงานของเครื่อง
“การใช้งานจักรอัลทราโซนิกส์นั้น จะเริ่มต้นโดยการนำวัสดุที่ต้องการเย็บเข้าด้วยกัน 2 ชิ้นสอดผ่านช่องระหว่างหัวเชื่อม ที่สั่นด้วยความถี่อัลทราโซนิกส์และวงล้อ ผลที่เกิดขึ้นของแรงกดระหว่างหัวเชื่อม การสั่นด้วยความถี่อัลทราโซนิกส์และวงล้อ จะทำให้เกิดความร้อนเนื่องจากการเสียดสีตรงจุดซึ่งหัวเชื่อมสัมผัสกับวัสดุ ทำให้พื้นผิวของวัสดุทั้งสองชิ้นเฉพาะจุดนั้นเชื่อมติดกัน และเมื่อวงล้อหมุน ป้อนวัสดุทั้งสองเข้าไปก็จะทำให้เกิดการเชื่อมติดกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับลวดลายของรอยตะเข็บที่เกิดขึ้นบนวัสดุนั้นก็จะเป็นเช่นเดียวกันกับลวดลายบนวงล้อ จึงเหมาะสำหรับเย็บวัสดุที่ต้องการความประณีต เช่น ใยสังเคราะห์ ผ้าลูกไม้ ริบบิ้น เป็นต้น ปัจจุบันในต่างประเทศมีแนวโน้มการใช้อัลทราโซนิกส์มาเย็บวัสดุจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยเรายังไม่แพร่หลาย หากมีการผลิตใช้เองอย่างแพร่หลาย จะเป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมของประเทศมาก” นายยุทธนากล่าว
ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจทั่วไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม “จักรอัลทราโซนิกส์...เครื่องแรกของประเทศไทย” ได้ที่ ฝ่ายวิศวกรรม วว.โทร. 0 2577 9000 ในวันและเวลาราชการ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net