กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูล ประกาศกลยุทธ์การตลาดสำหรับปี 2550 พร้อมทั้งแผนการสร้างความเป็นผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์สตอเรจของไทย โดยรายงานตลาดซอฟต์แวร์ครึ่งปีในเอเชีย/แปซิฟิกของไอดีซี (พฤศจิกายน 2549) ระบุว่า อีเอ็มซีครองตำแหน่งผู้นำตลาดซอฟต์แวร์สตอเรจในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 โดยมีส่วนแบ่งในแง่ของรายได้ตลาด 27%
ความสำเร็จของอีเอ็มซีในประเทศไทยเป็นผลมาจากความเป็นผู้นำระดับโลกของอีเอ็มซีในตลาดซอฟต์แวร์สตอเรจ โดยอีเอ็มซีครองตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดซอฟต์แวร์สตอเรจทั่วโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันในช่วงปี 2549 และมีรายได้โดยรวมสูงสุดในตลาดซอฟต์แวร์สตอเรจทั่วโลกเป็นไตรมาสที่16 ติดต่อกัน จากการรายงานตลาดซอฟต์แวร์รายไตรมาสทั่วโลก, มีนาคม 2550 นอกจากนั้น อีเอ็มซีเป็นหนึ่งในผู้ผลิต 5 รายที่มีรายได้เติบโตแบบปีต่อปีสูงสุดสำหรับโซลูชั่นการปกป้องข้อมูลและการกู้คืนข้อมูล โดยสูงกว่าเกือบ 3เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดในช่วงไตรมาส 4
ดร. ธัชพล โปษยานนท์ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 อีเอ็มซีมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีที่สุด โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น อีเอ็มซีมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลัก และมีลูกค้าใหม่ 38 ราย เช่น กรมสรรพากร, ,การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง, บริษัท กรุงไทย คอมพิวเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด, เดอะไมเนอร์กรุ๊ป, ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัย มหิดล, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
“ซึ่งนับเป็นเครื่องยืนยันว่าลูกค้าให้การยอมรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของอีเอ็มซี ไม่ว่าจะเป็นระบบฮาร์ดแวร์และ ซอฟต์แวร์ และบริการการจัดเก็บและการจัดการข้อมูล เราเริ่มต้นปี 2550 ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นเทคโนโลยีที่หลากหลาย รวมทั้งการดำเนินกลยุทธ์ที่เหมาะสม และที่สำคัญที่สุดก็คือ เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด สำหรับกลยุทธ์ ‘ONE EMC’ ที่อีเอ็มซีได้เข้าซื้อและควบรวมกิจการของบริษัทไอทีชั้นนำ เช่น RSA security, Network Intelligence, Authentica, Documentum, Captiva, Smarts, VMWare, Rainfinity, Legato, Dantz ฯลฯ ทำให้เทคโนโลยีของอีเอ็มซีมีสมบูรณ์แบบทางด้านการรักษาความปลอดภัย การจัดการคอนเทนต์ เวอร์ชวลไลเซชั่น การจัดการทรัพยากร การเก็บรักษาและปกป้องข้อมูลในระยะยาว” ดร.ธัชพล กล่าว
องค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ของอีเอ็มซีก็คือ การช่วยให้ลูกค้าในประเทศไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูลและใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพจากข้อมูลที่มีอยู่ โซลูชั่นของอีเอ็มซีช่วยให้ลูกค้าสามารถ จัดเก็บ ปกป้อง ปรับแต่ง และใช้ประโยชน์ จากข้อมูลเพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันภายในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูลแบบครบวงจร โดยพื้นฐานแล้วโครงสร้างพื้นฐานทางด้านข้อมูล (Information Infrastructure) นับเป็นแนวทางใหม่
สำหรับการจัดเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งใช้งานและใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าหลีกเลี่ยงความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านธุรกิจ
มร. รอน โก๊ะ ประธานประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของอีเอ็มซี กล่าวว่า “สำหรับธุรกิจในประเทศไทย เรารู้สึกพอใจอย่างมากกับผลประกอบการที่ดีในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา รายได้และกำไรของเราเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นใน 4 ตลาดหลัก (การจัดเก็บข้อมูล, การรักษาความปลอดภัย, การจัดการคอนเทนต์ และเวอร์ช่วลไลเซชั่น) และพร้อมที่จะขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2550 เราครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดโดยเป็นผลมาจากการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดหาซอฟต์แวร์ที่ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนและลดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการดูแลรักษาระบบ กลุ่มผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่หลากหลายของเรารองรับการสำรองข้อมูล การกู้คืนข้อมูล การเก็บข้อมูลระยะยาว การจัดการคอนเทนต์ การจัดการระบบงานธุรกิจ/ทรัพยากรข้อมูล เราพบว่ายังคงมีความต้องการที่สูงมากสำหรับซอฟต์แวร์การจัดการข้อมูลในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคม บริการด้านการเงิน และการผลิต”
เหตุการณ์สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 4 และปี 2549 สำหรับอีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น:
ในช่วงไตรมาสที่ 4 อีเอ็มซีมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักสำหรับระบบ ซอฟต์แวร์ และบริการทั้งหมด และในภูมิภาคที่สำคัญทั้ง 4 ภูมิภาค โดยรายได้จากระบบของอีเอ็มซีเพิ่มขึ้น 12% ในขณะที่รายได้จากลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และบริการบำรุงรักษาเพิ่มขึ้น 27% และรายได้จากบริการระดับมืออาชีพ บริการบำรุงรักษาระบบ และบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 รายได้รายไตรมาสจากอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 18% ในขณะที่รายได้จากยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเพิ่มขึ้น 22% ส่วนรายได้จากละตินอเมริกาเพิ่มขึ้น 14% และรายได้จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่นกลับมาเติบโตในอัตราเลขสองหลักอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2548
เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 อีเอ็มซีมีเงินสดและเงินลงทุนอยู่ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วงปี 2549 อีเอ็มซีได้ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อคืนหุ้นของอีเอ็มซีมูลค่า 302 ล้านดอลลาร์ และไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพ 125 ล้านดอลลาร์
ธุรกิจการจัดเก็บข้อมูลของอีเอ็มซี ซึ่งประกอบด้วยระบบสตอเรจ ซอฟต์แวร์การจัดการข้อมูล การปกป้องข้อมูล และการจัดการทรัพยากร และบริการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าและบริการระดับมืออาชีพ มีรายได้ 2,670 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากความต้องการที่ต่อเนื่องสำหรับระบบสตอเรจบนเครือข่ายรุ่นใหม่อย่าง EMC CLARiiON CX3 UltraScale และ EMC Symmetrix DMX-3 ในขณะที่รายได้จากซอฟต์แวร์ EMC Rainfinity File Virtualization เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เนื่องจากองค์กรต่างๆ หันมาปรับใช้ไฟล์เวอร์ช่วลไลเซชั่นเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากไฟล์ข้อมูลและระบบไฟล์แบบ Global File System
ส่วนซอฟต์แวร์ EMC Smarts และ EMC NetWorker ได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากลิขสิทธิ์เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอัตราเลขสองหลัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีการปรับใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของอีเอ็มซีสำหรับการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการสำรองและกู้คืนข้อมูลอย่างกว้างขวาง
ธุรกิจการจัดการคอนเทนต์และการจัดเก็บข้อมูลระยะยาว (Archiving) ในระดับโลกของอีเอ็มซี มีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 203 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 อีเอ็มซียังคงขยายความเป็นผู้นำในตลาดการจัดการคอนเทนต์ภายในองค์กร เนื่องจากองค์กรต่างๆ หันมาปรับใช้ซอฟต์แวร์ EMC Documentum เพื่อบริหารจัดการข้อมูลแบบไม่มีการจัดโครงสร้าง (unstructured information) ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายได้จากการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่ RSA กลุ่มธุรกิจการรักษาความปลอดภัยของอีเอ็มซี ดำเนินงานครบทั้งไตรมาส อยู่ที่ 114 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัทที่รวมกันเป็นกลุ่มธุรกิจดังกล่าว (RSA Security และ Network Intelligence) ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องสำหรับโซลูชั่นการคุ้มครองตัวตนผู้ใช้ของ RSA Security โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเรียกให้ดำเนินการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้อย่างเข้มงวดสำหรับระบบออนไลน์แบงกิ้ง และความกังวลใจเกี่ยวกับการปลอมบัตรเครดิตและการขโมยตัวตนของผู้ใช้ นอกจากนี้ผลประกอบการดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการ รวมทั้งการตอบรับที่ดีจากลูกค้าสำหรับแนวทางที่มุ่งเน้นข้อมูลของอีเอ็มซีในการคุ้มครองข้อมูลทางด้านธุรกิจให้ปลอดภัย
สำหรับสื่อมวลชน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Local PR agency contact จตุพร ไตรทานบริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัดTel: 0-2971-3711
Fax : 0-2521-9030Email : jatuporn@pc-a.co.th