“ดร.ณรงค์ชัย” กำหนดบทบาท EXIM BANK ธนาคารเพื่อการพัฒนา พร้อมจับมือภาครัฐและเอกชนช่วยผู้ส่งออกพ้นวิกฤตค่าเงินบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2007 12:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
คณะกรรมการ EXIM BANK ชุดใหม่ภายใต้การนำของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กำหนดบทบาท EXIM BANK ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในต่างประเทศอย่างจริงจัง เร่งช่วยผู้ส่งออกพ้นวิกฤตค่าเงินบาทด้วยบริการทางการเงินครอบคลุมกระบวนการผลิตและส่งออกสินค้าอย่างครบวงจร รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงทางการค้าและการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แทน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร รวมทั้งแต่งตั้งนางสาวอรจิต สิงคาลวณิชและ ดร.วิศาล บุปผเวส เป็นกรรมการแทนในตำแหน่งที่ว่างลง ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปนั้น ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี เปิดเผยว่า คณะกรรมการ EXIM BANK จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารธนาคารเพื่อผลักดันให้ EXIM BANK ดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างเข้มข้นและจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในต่างประเทศฟันฝ่าอุปสรรคและความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับมือกับความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยได้ ในขณะที่ประเทศคู่ค้าต่างๆ ทยอยนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาบังคับใช้และหลายประเทศผู้ผลิตเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของไทย โดยอาศัยความได้เปรียบในด้านค่าจ้างแรงงาน ความพร้อมด้านวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก และการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ในการออกมาตรการและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการขยายตลาดส่งออกและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
ประธานกรรมการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจไทยและระหว่างประเทศ กฎระเบียบและโอกาสในการส่งออกและเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งมีความพร้อมด้านความรู้ความชำนาญในการบริหารจัดการธุรกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ สามารถบริหารต้นทุนการผลิตและการขนส่งเพื่อการกำหนดราคาสินค้าที่แข่งขันได้ มีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ มีกระบวนการผลิตและตรวจสอบสินค้าที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนช่องทางใหม่ๆ ในการติดต่อค้าขายและทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยปัจจุบัน EXIM BANK กำลังดำเนินแผนการตลาดในเชิงรุกเพื่อเจาะกลุ่มผู้ส่งออกที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างองค์กร แยกส่วนงานด้านการตลาดหรือหาลูกค้าออกจากส่วนงานวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อพิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกำหนดรูปแบบการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดตั้ง EXIM International ในรัสเซียในปีนี้ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการลดปัญหาและอุปสรรคทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทยในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
EXIM BANK มุ่งเน้นการให้บริการที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกและการลงทุนไทยในต่างประเทศอย่างครบวงจร ตั้งแต่เงินทุนหมุนเวียนสำหรับช่วงก่อนและหลังการส่งออก สินเชื่อระยะกลางถึงระยะยาวเพื่อสนับสนุนการขยายกำลังผลิตไปจนถึงบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจบริการการส่งออก ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าในห้องปฏิบัติการจนถึงกระบวนการ Logistics ด้านคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริการประกันการส่งออกคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และบริการประกันความเสี่ยงการลงทุนช่วยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อโครงการลงทุนและความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของผู้ลงทุน
ประธานกรรมการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า การดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาดังกล่าว EXIM BANK จำเป็นต้องมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรองรับการกันสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ตามมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 โดยคาดหวังว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติการเสนอขอเพิ่มทุนจำนวน 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาทในปี 2550 และอีก 5,000 ล้านบาทในปี 2551-2552 เพื่อช่วยให้ EXIM BANK มีเงินทุนเพียงพอกับการขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในต่างประเทศ สามารถช่วยเสริมสภาพคล่องและศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถให้สินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อขยายฐานการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศและผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ