มฉก. รุกหนัก มุ่ง “บูรณาการจีนศึกษา” ตั้งเป้า “ผู้นำการศึกษาเรื่องจีนและธุรกิจจีนในไทย”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 17, 2010 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--Wonderex ยกระดับบุคลากร พัฒนาหลักสูตร พร้อมขยายความร่วมมือทั้งด้านวิชาการ ความสัมพันธ์ และศิลปวัฒนธรรม ไทย-จีน รองรับความยิ่งใหญ่ของ “จีน” สู่ความเป็นเจ้าเศรษฐกิจโลก น้อมนำกระแสพระราชดำรัส “ขอให้ทำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ดี” ในวโรกาสเสด็จเป็นองค์ประธานพิธี เปิดมหาวิทยาลัย มุ่งเน้นปณิธาน “เรียนรู้ เพื่อรับใช้สังคม” ณ ห้องเดอะแซฟไฟร์ โรงแรม อโนมา กรุงเทพ, วันที่ 16 มีนาคม 2553 : รศ.ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร. อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ รองอธิการบดี และ รักษาการคณบดี คณะศิลปศาสตร์ และ อาจารย์พิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดีและ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว “บูรณาการจีนศึกษา กับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ภายใต้ปณิธาน “เรียนรู้ เพื่อรับใช้สังคม” สำหรับความเป็นมาของ มฉก. นั้น รศ.ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดี เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2485 โดย “มูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง” ภายใต้ชื่อ “ผดุงครรภ์อนามัย” ต่อมามีการขยายบริการเป็นโรงพยาบาล จึงได้ยกฐานะโรงเรียนผดุงครรภ์ เป็น “วิทยาลัยหัวเฉียว” ในปี 2524 และต่อมาในปี 2533 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 80 ปี ของ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยมี ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการเป็นผู้นำระดมทุนจากชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นครั้งแรกกว่า 100 ล้านบาท และนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมสมทบทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัย บนพื้นที่ 150 ไร่ บริเวณถนนบางนา-ตราด แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” และเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว โดยทรงมีกระแสพระราชดำรัสกับผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยว่า “ขอให้ทำมหาวิทยาลัย แห่งนี้ให้ดี” ซึ่งมฉก.ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาสู่การบริหารและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เน้นให้เป็นสถาบันเอกลักษณ์ด้าน “จีนศึกษา” แหล่งผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญภาคทฤษฎี และชำนาญทักษะภาคปฏิบัติ ส่วนนโยบายและแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยนั้น รศ.ดร. ประจักษ์ ให้ความเห็นว่า “มฉก. เป็นสถาบันการศึกษาภาคเอกชนที่มิได้แสวงหากำไร มีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เป็น แหล่งผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎี และ ชำนาญทักษะภาคปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมในการ เรียนรู้...เพื่อรับใช้สังคม ซึ่งเป็นปณิธานอันแรงกล้าของสถาบัน นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างสรรค์มหาวิทยาลัย ให้เป็น สถาบันเอกลักษณ์ด้านจีนศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี และ ปริญญาโท โดยวางเป้าหมายผลักดันสู่ความเป็น ผู้นำด้านจีนศึกษาและธุรกิจจีนในไทย ภายใน 2 ปี และมีแนวทางการบริหารให้เป็น มหาวิทยาลัยแห่งความพอเพียง อย่างเป็นรูปธรรม” ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา สถาบันได้ผลิตนักศึกษาที่เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคมเป็นจำนวนกว่า 18,000 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 9,000 คน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ทั้งหมด 12 คณะ รวม 37 สาขาวิชา นอกจากนี้ ยังมีระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 ปี รวมถึง หลักสูตรนานาชาติ และ ปริญญาโท โดยมีคณะที่โดดเด่น คือ คณะการแพทย์แผนจีน คณะทางสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ และภาษา -วัฒนธรรมจีน และคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งเน้นธุรกิจจีน นอกจากนี้ ยังมีคณะน้องใหม่ทางสายสังคมศาสตร์ อย่างนิติศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ อีกด้วย ในการพัฒนาประสิทธิภาพด้านจีนศึกษานั้น มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ วางเป้าหมายหลักไว้ 4 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มพูนคุณภาพการเรียน-การสอน งานวิจัยและเผยแพร่ความรู้ การให้บริการและความร่วมมือทางวิชาการด้านภาษาจีนและจีนศึกษาแก่สังคม ตลอดจนอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมจีน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมทั้งด้านภาษาจีน จีนศึกษา ธุรกิจจีน การแพทย์แผนจีน และจัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรและรายวิชาเลือกเสรี ด้านศิลปวัฒนธรรมจีน เช่น วาดภาพจีน ศิลปะจีน เขียนพู่กันจีน มวยจีน หรือ ไท้เก๊ก และ อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง สถาบันไทย-จีนศึกษา สถาบันธุรกิจไทย-จีนภิวัฒน์ และศูนย์แต้จิ๋ววิทยา เพื่อให้บริการทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องของจีน จัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ชาวจีนและอาจารย์ชาวไทย และการทำวิจัยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย — จีน เป็นประจำทุกปี จุดเด่น “จีนศึกษา” ของ มฉก. เรียนจริง — รู้จริง เน้นการสอนจากเจ้าของภาษา และ เรียนรู้ภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยในจีน 1 ปี ทุกคน ผศ. ดร. อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ รองอธิการบดี และ รักษาการคณบดีคณะศิลปศาสตร์ เปิดเผยถึงจุดเด่นของหลักสูตรที่เกี่ยวกับภาษาจีนและจีนศึกษาว่า “ภาษาจีน ได้รับความนิยมเรียนกันมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน นักเรียนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของภาษาจีนต่อการศึกษาและการทำงานในอนาคต เพราะจีนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นทุกที คณะศิลปศาสตร์ มฉก. ทำการเปิดสอนถึง 9 สาขาวิชา มีทั้งหลักสูตรปกติ และ หลักสูตรนานาชาติ มีให้เลือกทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาจีน สาขาการท่องเที่ยวและบริการ และสาขาจีนศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และ ปริญญาโท” จุดเด่นพิเศษ ของสาขาวิชาภาษาจีนคือ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทุกคนต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในมณฑลกว่างซี และยูนาน ฯลฯ ในประเทศจีนที่มีความร่วมมือทางวิชาการกับมฉก. ด้านหลักสูตร เน้นภาษาจีนพื้นฐาน และมีวิชาเลือกภาษาจีนเฉพาะด้าน เช่น ภาษาจีนธุรกิจและวรรณคดีจีน ทักษะการสอนเพื่อเป็นครูภาษาจีน ฯลฯ ด้านการเรียน มีการแบ่งกลุ่มการเรียนตามระดับความรู้ด้านภาษาจีน คือ กลุ่มเก่งกลุ่มปานกลาง และ กลุ่ม อ่อน หรือไม่รู้ภาษาจีนเลย ซึ่งนักศึกษาที่ไม่มีพื้นฐานเลยก็สามารถเรียนได้ กลุ่มที่เก่ง มาก ๆ สามารถยกเว้นวิชาพื้นฐานได้ถึง 7 วิชา และสอนวิชาที่สูงขึ้นเพิ่มให้ เป็น Value added ด้านการสอน มฉก.มีโครงการอาจารย์แลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน ซึ่งมีความร่วมมือ ทางวิชาการระหว่างกัน ระดับปริญญาโท มฉก. มีหลักสูตรวรรณคดีสมัยใหม่และร่วมสมัย ซึ่งเน้นหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัย หัวเฉียว ประเทศจีน นักศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบ จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ฯ และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ประเทศจีน มฉก. เน้นผลิตนักศึกษาที่มีความรู้จริงด้านธุรกิจจีน สนองความต้องการของภาคธุรกิจไทย -จีน อาจารย์พิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดี คณบดีคณะบริหารธุรกิจ และผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจไทย-จีนภิวัฒน์ เจ้าของสมญา Mr. China ผู้เขียนหนังสือจากประสบการณ์ “ถอดเกร็ดมังกร” กล่าวถึงความโดดเด่นของคณะบริหารธุรกิจว่า “มฉก. ได้เปรียบที่มีความสัมพันธ์และความร่วมมือโดยตรงกับจีน จึงสามารถสร้างองค์ความรู้ด้านธุรกิจจีนและผลิตบัณฑิตที่มีทั้งคุณภาพและประสบการณ์ ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจไทย — จีน และช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย คณะบริหารธุรกิจของมฉก. เปิดสอนทั้งสิ้น 10 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาบัญชี , การจัดการ, การตลาด, การเงิน, ธุรกิจระหว่างประเทศ, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, การจัดการอุตสาหกรรม, การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และบริหารธุรกิจภาคภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนจะเน้นการสัมมนา ดูงาน และฝึกอบรมในประเทศจีน ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยเฉพาะการร่วมเดินทางไปกับนักธุรกิจไทยเพื่อพบปะเจรจาทางการค้า (Matching) กับนักธุรกิจจีนนอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้ง สถาบันธุรกิจไทย — จีน ภิวัฒน์ ขึ้นในปี 2551 ประกอบด้วยศูนย์ 3 แห่ง คือ ศูนย์ธุรกิจไทย-จีนศึกษา ศูนย์พัฒนาโลจิสติกส์ไทย-จีน และศูนย์ส่งเสริม SMEs ไทย-จีน เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการและปฏิบัติการด้านธุรกิจไทย-จีน ให้แก่นักศึกษา นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาภาษาจีนธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภาษาจีนธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย ยังจับมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ป้อนเข้าสู่ระบบ ภายใต้สถาบันธุรกิจไทย — จีน ภิวัฒน์ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน คือ บริษัท สยาม โลจิสติกส์ อัลลิอันซ์ จำกัด (SLA) และ บริษัท ไทยโลจิสติกส์อัลลิอันซ์ จำกัด (TLA) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทที่ดำเนิเนงานด้านโลจิสติกส์กว่า 50 บริษัท ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนานย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (พค.) กระทรวงพาณิชย์ สภาขนส่งทางเรือ สภาหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” อาจารย์พิษณุ กล่าวปิดท้าย ดูแลนักศึกษาให้เป็น “คนดีและคนเก่ง” พร้อมปลูกจิตสำนึก “เรียนรู้ เพื่อรับใช้สังคม” อาจารย์ฉลอง แขวงอินทร์ ผู้ช่วยอธิการบดี และ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานักศึกษา กล่าวว่า “มฉก. ให้ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ของนักศึกษา นอกจากสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังประสานความร่วมมือกับ ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการหอพัก/ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อบต. ตำรวจ พัฒนาสังคมฯ สรรพสามิต และส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อร่วมกันดูแลจัดระเบียบสังคมในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปราศจากแหล่งมอมเมาเยาวชน เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาเล่าเรียน โดยมหาวิทยาลัยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ และจัดประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และออกคำสั่งห้ามมิให้นักศึกษาเข้าไปในแหล่งอบายมุข และร้านจำหน่ายสุราในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดทีมประสานงานและรับเรื่องจากสถานีตำรวจภูธรบางพลี เพื่อดูแลสวัสดิภาพนักศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังพยายามปลูกฝังแนวคิดแห่ง “การให้” เพราะมฉก. ก่อกำเนิดจาก “การให้” หรือ ความกตัญญูของคนไทยเชื้อสายจีนที่ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์สร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น ดังนั้นปณิธาน “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” จึงสะท้อนถึงการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ซึ่ง ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา มีความตระหนักและระลึกถึงส่วนนี้อยู่เสมอ จึงจัดให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการชุมชนต่าง ๆ เช่น โครงการ มฉก.บริการชุมชน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 โดยประสานงานกับหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนเคลื่อนที่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และวิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดสมุทรปราการ ในการออกหน่วยให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง เดือนละ 1 ครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน โดยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น 129 ครั้ง มีผู้รับบริการไปแล้วกว่าแสนราย กิจกรรมนี้มุ่งให้นักศึกษาและบุคลากรได้สร้างเสริมประสบการณ์ตรงในทักษะวิชาชีพ มีจิตสำนึกการเสียสละเพื่อส่วนรวม และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ