กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ซิลเลเบิล
โรงพยาบาลกรุงเทพเผยนโยบายปี 2553 เน้นย้ำการพัฒนาประสิทธิภาพในการรักษาระดับสากลและพร้อมลงทุนเพิ่มเพื่อเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีการแพทย์
โรงพยาบาลกรุงเทพจัดงานแถลงข่าวในโอกาสครบ 38 ปีของการดำเนินการ ณ อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ ทีมแพทย์ผู้แถลงข่าวนำโดย นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ นายแพทย์กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ นายแพทย์ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และแพทย์หญิงสุชีลา จิตสาโรจิตโต ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อเร็วๆนี้
นายแพทย์ชาตรีเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 38 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลกรุงเทพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 สามารถสร้างยอดรายได้ถึง 7,000 ล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจะไม่เอื้ออำนวยในช่วงครึ่งปีแรก และคาดว่าในปี 2553 นี้จะมีอัตราการเติบโต 7%-10% ซึ่งทางโรงพยาบาลยังเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาลในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพและความสามารถของแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ ความทันสมัยของเครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆให้อยู่ในระดับสากล เพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้ป่วยแบ่งเป็นชาวไทย 60% และชาวต่างชาติ 40% ได้แก่ ชาวตะวันออกกลาง เอเชีย ยุโรปและเอเชียแปซิฟิกตามลำดับ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังให้ความสำคัญกับการจัดหาอุปกรณ์ทางแพทย์เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยของผู้รับบริการ และประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล โดยในปี 2553 ได้ลงทุนประมาณ 375 ล้านบาทสำหรับเครื่องมือการแพทย์ อาทิ เครื่องถ่ายภาพกระดูกสันหลังและบริเวณข้างเคียง (Intra-operative CT Scanner) เครื่องนำทางผ่าตัดกระดูกสันหลังและสมองด้วยคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด (Surgical Navigator) เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 256-slice CT scan สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและเครื่องคาร์โตซาวน์ (CartoSound) นวัตกรรมการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเครื่องเดียวในประเทศไทย เป็นต้น
ในส่วนของศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง นายแพทย์ชาตรีกล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลได้เตรียมเทคโนโลยีและบริการใหม่เพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยในด้านต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลวัฒโนสถ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งครบวงจร ได้เปิดศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูก (Bangkok Blood and Marrow Stem Cell Transplant Unit) เพื่อช่วยเหลือเด็กซึ่งป่วยด้วยโรคโลหิตจางเบต้าธาลัสซีเมีย โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบัน Barbara Ann Karmanos Cancer Institute ใน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์รักษาโรคมะเร็งชั้นนำ
สำหรับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ นายแพทย์กิติพันธ์กล่าวว่าการตรวจรักษาหัวใจด้วยเทคนิคใหม่ช่วยให้ผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล โดยผ่านกระบวนการเพียง 2 ขั้นตอน ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงแบบสี่มิติ (4-D Heart Screening Echo) เพื่อตรวจการทำงานของห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง การบีบตัว และรูรั่วของผนังหัวใจ และกระบวนการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (256 —slice CT Scan) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงสุขภาพหัวใจโดยรวม
ในการรักษาพยาบาลด้านกระดูกสันหลัง นายแพทย์ทายาทเปิดเผยว่า สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นเพียงแห่งเดียวที่เน้นการรักษาแบบองค์รวม (Holistic approach) ซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์สหสาขาผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ ได้แก่ ศัลยแพทย์ประสาท แพทย์ศัลยกรรมกระดูก แพทย์ประสาทวิทยา จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น โดยจะวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อความปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป อาทิเช่น การฉีดยาบล็อคเส้นประสาทการระงับอาการปวดจากกระดูกทับเส้น (Interventional Selective Nerve Root Block) การฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกเพื่อรักษาอาการกระดูกสันหลังยุบ (Vertebroplasty) การทำกายภาพบำบัด ฯลฯ อันเป็นวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด (Non-Surgical treatment) พร้อมเผยวิสัยทัศน์ว่า “ทางศูนย์มุ่งเป็นสถาบันรักษาโรคกระดูกสันหลังที่ดีที่สุด ในเอเชีย”
ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์หญิงสุชีลาได้กล่าวว่า ทางศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมุ่งเน้นให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง และป้องกันมิให้กลับมาเป็นโรคเดิม โดยมีนักกายภาพบำบัดคอยดูแลผู้ป่วยในแต่ละด้าน ได้แก่ ปอด สมอง หัวใจ วิเคราะห์การเดิน ธาราบำบัด กิจกรรมบำบัด และบำบัดลดปวด เป็นต้น
ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำด้านวิทยาการทางการแพทย์เท่านั้น โรงพยาบาลกรุงเทพยังคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย อาทิ ริเริ่มโครงการอิ่มบุญ ซึ่งนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการรักษาผู้ป่วยเข้าสมทบทุนมูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เป็นประจำทุกเดือน และร่วมสมทบทุนช่วยเหลือชาวเฮติที่ประสบภัยแผ่นดินไหว เป็นต้น
โรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ได้พัฒนาและขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 38 ปี ปัจจุบัน โรงพยาบาลกรุงเทพมีโรงพยาบาลในเครือ 13 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยโรงพยาบาลกรุงเทพตามหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลและศูนย์เฉพาะทางที่ได้รับความไว้วางใจในระดับโลก ได้แก่ โรงพยาบาลวัฒโนสถสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญการรักษาด้านกระดูกสันหลัง และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ด้วยความพร้อมทั้งทีมแพทย์เฉพาะทาง บุคลากรมืออาชีพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าโรงพยาบาลชั้นนำ ของโลก
โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำและเครือข่ายทางแพทย์ที่ใหญที่สุดในประเทศไทย จากการเปิดเผยงบการเงินประจำปี 2552 บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 21,945 ล้านบาท นับเป็นกำไรสุทธิ 1,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2551
เผยแพร่ในนามบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ซิลเลเบิล จำกัด
ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ข่าว กรุณาติดต่อ
คุณสมคิด เจริญศักดิ์/ คุณนิฎฐากร วงศ์วรรณ โทร. 0 2254 6895-7 โทรสาร 0 2255 4468