กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
ระวังไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกสอง เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และกลุ่มคนทำงาน เป้าหมายหลัก ต้องระวังเป็นพิเศษ
เตือนระวังเสี่ยงติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อนสูง พบกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อนในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่
ผลวิจัยล่าสุดในสหรัฐชี้ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) ที่ให้โดยทั่วไปในเด็กเล็ก จะช่วยป้องกันคนกว่า 1 ล้านคนให้รอดตายจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่พบในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง
จากการเปิดเผยของ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ในงานอบรมระยะสั้นของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมสยามซิตี้ ว่า “จากภูมิอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำเกิดขึ้นมากมาย แต่ที่แพทย์ให้ความเป็นห่วงคือ การระบาดระลอกสองของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากไข้หวัดสายพันธุ์ดังกล่าวมีการพัฒนาตัวเองให้ทนทานต่อยารักษาโรค ทำให้รักษาได้ยากขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อน เนื่องจากเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อที่อยู่ในคอหอยและเยื่อบุโพรงจมูก หากเชื้อดังกล่าวหลุดรอดลงไปในปอดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในปอด ปอดบวม และระบบหายใจล้มเหลวในที่สุด ซึ่งตรงกับผลการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาล่าสุดที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าการติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในช่วงไข้หวัดระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปี ค.ศ. 1918, 1957 และ 1968 อีกด้วย”
เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตรปโตคอคคัส นิวโมนิอี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดบวมที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิตกว่าปีละ 2 ล้านคน และยังก่อให้เกิดกลุ่มโรคไอพีดี ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมนิอี อย่างรุนแรง ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) เป็นต้น
“ล่าสุดได้มีผลการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับผลกระทบทางสาธารณสุข และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) ในสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผลงานวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา พบว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้เป็นวัคซีนพื้นฐานในเด็กเล็กนั้น นอกจากจะสามารถป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวแล้วยังสามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อนในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งในช่วงที่มีไข้หวัดตามฤดูกาลและในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดได้อีกด้วย รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดตามฤดูกาลและเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนได้ถึง 1.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สำหรับกรณีที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ พบว่าวัคซีนดังกล่าวจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 7.3 พันล้านดอลล่าร์ จากการป้องกันคนกว่า 1 ล้านคนให้พ้นจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยแบ่งเป็นการป้องกัน 512,000 คนให้พ้นจากกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส 719,000 คนจากโรคปอดบวม 62,000 คนจากการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส และ 47,000 คนจากการเสียชีวิตจากโรคปอดบวม ซึ่งร้อยละ 84 ของผู้ที่ได้รับการป้องกันไม่ให้เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว แต่ได้รับการป้องกันทางอ้อม (HERD Immunity) จากการที่เด็กเล็กในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับวัคซีนดังกล่าวโดยทั่วไป” ศ.พญ.อุษา กล่าว
รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระลอกสอง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เปลี่ยนไปจากการระบาดครั้งแรกเล็กน้อย โดยกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และกลุ่มคนทำงาน แต่ร้อยละ 90-95 ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถหายได้หากได้รับการรักษาที่ถูกวิธี มีส่วนน้อยของผู้ป่วยโรคนี้ที่เป็นแบบรุนแรง เชื้อจะลงไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวม ปอดอักเสบ และระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้นแพทย์จึงมุ่งรักษาที่ปอดเป็นสำคัญ
“เชื้อแบคทีเรียเป็นเชื้อแทรกซ้อนที่สำคัญในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แบบรุนแรง พบอัตราการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียถึงร้อยละ 30—40 โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือเชื้อนิวโมคอคคัส คิดเป็นร้อยละ 30 ของอัตราการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียทั้งหมด ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน” รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าว
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา และพิธิมา
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138