กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--พี อาร์ เน็ตเวิร์ค
อาการปวดหลังเฉียบพลัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อาการชาต่างๆ จนลุกลาม ไปที่การปวดร้าวลงสะโพกหรือลงขา หากคุณเริ่มมีอาการที่ว่านี้ ร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของ หมอนรองกระดูก โรคร้ายที่แฝงตัวมากับอาการปวดหลังธรรมดาๆ แต่อาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นที่หลายคนต้องพึ่งพา “มีดหมอ” กันเลยทีเดียว
ปวดหลัง โรคฮอตฮิตของคนเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานออฟฟิศหรือคนที่ต้องอยู่ในท่าทางเดิมๆเป็นเวลานาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคดังกล่าว และหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคปวดหลัง คือ “ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน”
ดร. มนต์ทณัฐ (รุจน์) โรจนาศรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญไคโรแพรคติก ประจำไคโรเมด สหคลินิก เปิดเผยว่า “หมอนรองกระดูกเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างกระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติคล้ายถุงน้ำ หุ้มด้วยกระดูกอ่อน (Jelly — Like - Water Sack) ซึ่งในภาวะปกติหมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่รองรับระหว่างกระดูกสองชิ้น ทุกครั้งที่เราก้มเงย หรือเคลื่อนไหวหมอนรองกระดูกจะเป็นตัวที่รับน้ำหนัก รับแรงกระแทกระหว่างกระดูก ซึ่งภาวะผิดปกติของหมอนรองกระดูกอาจเกิดขึ้นได้หลาย สาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ โรคติดเชื้อ พันธุกรรม แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ ภาวะการทำงานที่ผิดปกติ (Mechanical Malfunction) หรือการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของตัวข้อ อันสืบเนื่องมาจากท่าทางซึ่งผิดลักษณะของเรา เช่น การก้ม, ยืน เอียงตัว, อุบัติเหตุ หรือการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน และถ้าปราศจากการทำงานที่ถูกต้องของหมอนรองกระดูกแล้ว การเคลื่อนไหวของตัวข้อคงเป็นไปได้ยาก และการรับแรงกระแทกคงจะไม่เกิดขึ้น การถ่ายเทสารอาหารสู่ตัวข้อคงเกิดขึ้นน้อย ซึ่งนำมาสู่การเสื่อมสมรรถภาพของหมอน รองกระดูกและเคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน”
ทั้งนี้ ดร. มนต์ทณัฐ เปิดเผยถึงสถิติของผู้ที่มีโอกาสป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมว่า “หมอนรองกระดูกจะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะมีช่วงอายุน้อยลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งอายุระหว่าง 15 — 20 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป การอยู่ในท่าทางเดิมๆนานเกินไป เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์, ท่าทางขณะใช้โทรศัพท์ ฯลฯ สำหรับช่วงอายุของวัยทำงานที่พบบ่อยที่สุดคือ 30 - 40 ปี ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้มีน้ำหนักตัวมากทำให้ต้องรับน้ำหนักที่มากตลอดเวลา, กลุ่มผู้สูบบุหรี่จัด และกลุ่มที่ต้องนั่งทำงานอยู่ในท่าทางเดิมนานๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่พบมากคือกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน จึงเกิดภาวะที่เสื่อมตามวัย”
ดร. มนต์ทณัฐ เปิดเผยต่อไปว่า “แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนนั้น มีหลายวิธีด้วยกัน ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด แต่หากมีอาการรุนแรงหรือมีลักษณะที่อาจเป็นอันตรายต่อเส้นประสาท และไขสันหลัง จึงอาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลบางแห่งอาจใช้วิธีฉีดสารสเตอรอยด์เข้าที่กระดูกสันหลัง แต่ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ต้นเหตุและได้ผลในระยะยาว สิ่งสำคัญที่จะทำให้การผ่าตัดได้ผลดี คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง, ผู้ป่วยเคยผ่านการรักษาด้วยวิธีการรับประทานยา, กายภาพบำบัดมาระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมารับการผ่าตัด ตลอดจนการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเป็นความหวังของผู้ป่วยหลายคนเช่นกัน
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการคิดค้นเทคนิคในการดูแลรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนแบบไม่ต้องผ่าตัด แต่เป็นการลดการกดทับของหมอนรองกระดูก เรียกวิธีนี้ว่า Spinal Decompression Therapy ซึ่งเป็นการลดภาวะการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของหมอนรองกระดูก และช่วยฟื้นฟูหมอนรองกระดูกให้กลับมาสู่สภาวะปกติมากที่สุด รวมถึงในเรื่องของการจัดแนวของกระดูกสันหลังให้กลับสู่สภาวะสมดุลโดยเลี่ยงการผ่าตัด นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยในการรักษาโรคหมอนรองกระดูก ที่เลือกการผ่าตัดเป็นตัวเลือกสุดท้ายของการรักษา”
ดร.มนต์ทณัฐ ให้ข้อคิดถึงแนวทางใหม่ในการรักษาโรคว่า “ขณะนี้แนวทางในการรักษาโรคมุ่งเน้นการรักษาเชิงป้องกัน เพื่อมิให้เกิดอาการซ้ำได้อีก จากเดิมที่เน้น การรักษาตามอาการ ด้วยยาและกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา การผ่าตัดจึงเป็นทางออกสุดท้ายสำหรับผู้ป่วย ซึ่งจะให้ผลดีในระยะสั้น หลังจากนั้นคนไข้จะกลับมามีอาการอีกในระยะยาว และส่วนใหญ่มักจะมีอาการแย่กว่าเดิม ดังนั้นหากเริ่มต้นดูแลสุขภาพ ด้วยการดูแลลักษณะการทำงานของโครงสร้างร่างกาย รวมทั้งดูแลความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพยุง จึงเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลปัญหาของหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิผล”
นอกจากนี้ พญ.กุสุมา คุณาวงษ์กฤต แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและการฝังเข็ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงแนวทางการรักษาโรคดังกล่าวว่า “การรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีเป้าหมายให้ผู้ป่วยลดความเจ็บปวด ลดอาการชา และภาวะอ่อนแรง และสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ เน้นการรักษาด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด ประกอบกับการรักษาโดยไม่ใช้ยา มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่า จะเป็นการกระดูก การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง และหมอนรองกระดูก โดยส่วนใหญ่กว่า 80% อาจไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด ถ้าสามารถลดปัจจัยความเสี่ยงหรือลดแรงเสียดทานของตัวข้อให้น้อยลงได้ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ก็จะแก้ได้เช่นกัน”
นพ. กฤษณ์ ไกรภักดี แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป กล่าวถึงการรักษาโดยการใช้ยาว่า “ได้ผลการรักษาค่อนข้างรวดเร็ว แต่ฤทธิ์ยาในการรักษาจะคงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่อาการจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหลังจากเลิกใช้ยา นอกจากนี้การใช้ยายังส่งผลข้างเคียง เช่น ยาลดอาการอักเสบในกลุ่ม NSAIDS ใช้ลดอาการปวด อาจทำให้เกิดการกระคายเคืองทางเดินอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ หรือยากลุ่ม สเตอรอยด์ ก็มีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้เช่นกันหากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นการทา การรับประทาน หรือแม้กระทั่งการฉีดยาบางชนิด เป็นการใช้เพื่อบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว และต้องใช้ควบคู๋ไปกับการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ”
ที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนแนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน เพราะการผ่าตัด (อาจ) ไม่ใช่ คำตอบสุดท้ายของการรักษา แต่ยังมีแนวทางการรักษาอื่นๆ ที่คุณเองเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจ
ทางที่ดีหากเราเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ต้อง เสี่ยงว่าการรักษาแบบใดจะ รอด หรือ ร่วง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ห่วงใยสุขภาพ ไคโรเมด สหคลินิก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดูแลสุขภาพ จากภายในสู่ภายนอกอันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง ปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร 0 2713 6745 — 6 หรือคลิก www.chiromedbangkok.com
สนับสนุนข้อมูลโดย ไคโรเมด สหคลินิก (CHIROMED CLINIC)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร 0 2682 9880