โรคฮิตของคนแต่ละ Generation รู้หรือไม่? คุณเป็นคน Gen ไหน? และมีความเสี่ยงกับโรคอะไร?

ข่าวทั่วไป Wednesday March 17, 2010 17:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ ในช่วงที่สังคมเร่งรีบ กับปัญหาต่างๆ จนบางที ทำให้ใครหลายคนลืมนึกถึงสุขภาพของตัวเองว่าในช่วงนี้ ได้ดูตรวจเช็คสุขภาพกันบ้างหรือไม่ ซึ่งในแต่ละช่วงอายุจะเผชิญกับโรคที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โรงพยาบาลกรุงเทพ ห่วงใยสุขภาพอยากให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง นำความรู้ดีๆ มาฝากเกี่ยวกับโรคฮิตของคนในแต่ละ generation ว่า Gen ไหน? มีความเสี่ยงกับโรคอะไรกันบ้าง? Generation B หรือ Baby Boomer เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2490-2508 หรืออายุระหว่าง 45-63 ปี มีความเสี่ยงกับโรค ความดันโลหิตสูง สาเหตุใหญ่มาจากความเครียด คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง อาจเนื่องจากไม่มีอาการของโรค และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาการที่สังเกตได้ เช่น เกิดเสียงดังหวิวๆ ในหู หรือได้ยินเสียงชีพจรในศีรษะของตัวเอง เลือดกำเดาออกบ่อย เวียนศีรษะเป็นประจำจนผิดสังเกต มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ขาบวม หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย การป้องกัน หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอและดูแลการทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ สามารถลดโอกาสการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ โรคมะเร็ง คือ กลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นจากการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และหากเซลล์เหล่านี้เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อดีในส่วนอื่น ๆ โดยการที่เซลล์เข้าไปเจริญเติบโตแทนที่ในส่วนบริเวณเนื้อเยื่อที่ดีนั้น จนทำร้ายเนื้อเยื่อที่มีอยู่เดิม อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอภายในเซลล์ ทำให้ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ควบคุมการทำงานของเซลล์สูญเสียไป เนื้อเยื่อดังกล่าวจะถูกเรียกว่า เนื้อร้าย หรือที่เรียกกันว่ามะเร็ง ซึ่งโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนไทย คือ โรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก การรักษานั้นขึ้นอยู่กับบริเวณแต่ละจุดของมะเร็ง มีทั้งการให้ยา เคมีบำบัด การฉายแสง หรือการผ่าตัด แต่การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดความเครียด หลีกเลี่ยงการทานอาหารหมักดอง หรือไหม้เกรียม ทานผัก ผลไม้ ไม่สูบบุหรี่ และที่สำคัญ คือ ควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้เนื้อสมองเสียหาย สาเหตุเกิดจากวิถีชีวิตของคนที่ต้องทำงานเร่งรีบ ประกอบกับความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งส่วนใหญ่โรคนี้มักมีอาการเฉียบพลัน ทำให้ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ วูบแบบเฉียบพลัน แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูด กลืนลำบาก การทรงตัวไม่ดี หากถึงมือแพทย์ช้า อาจเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ การป้องกัน คือ ควรวัดความดันโลหิตเป็นระยะ ตรวจหลอดเลือดที่คอเพื่อตรวจขนาดหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือด และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกาย งดกินเค็มเลี่ยงรสจัด กินอาหารไขมันต่ำ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหัวใจขาดเลือดสาเหตุเกิดจากการเส้นเลือดมีไขมันสะสมอยู่ ทำให้เส้นเลือดแดงไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ จะมีอาการเจ็บหน้าอก จุกแน่นลึกๆบริเวณใต้กระดูกหน้าอก หรือหน้าอกด้านซ้าย มักมีการเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายลงไปตามแขนซ้ายด้านใน หน้ามืด การป้องกันง่ายๆ ทำได้โดยควบคุมจิตใจ และอารมณ์ อย่าให้มีความเครียด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก อาหารรสเค็มจัด งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี Generation X หรือ Gen-X เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2508 - 2523 หรือ อายุ 30-45ปี มีความเสี่ยงกับโรค เบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ การรักษา คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด ป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น (สมอง ใจ ไต ตา ชา แผล) เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข โรคปวดหลัง โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลัง เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในการทำงาน การนั่ง การยืน พบได้มากในคนทำงาน เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักจะหายได้เอง แต่อาจเป็นๆ หาย ๆ หรือเรื้อรังได้ การรักษา ปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต หมั่นฝึก กายบริหารให้กล้ามเนื้อหลัง นั่งให้ถูกท่า เลี่ยงรองเท้าส้นสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โรคกระเพาะ มักเกิดกับคนที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา และเคร่งเครียดอยู่กับงานจนลืมที่จะรับประทานอาหาร หรือเกิดจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่อย่างหนัก มีอาการปวดท้องขึ้นมาในทันทีทันใด หรือปวดท้องก่อนรับประทานก็ได้ อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย การป้องกันรักษา ควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา อย่างสม่ำเสมอ และทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง และแอลกอฮอล์ทุกชนิด Generation Y หรือ Gen-Y เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523 - 2537 หรืออายุ 16-30 ปี มีความเสี่ยงกับโรค โรคไมเกรน มักพบในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นไมเกรน เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า เกิดจากความผิดปกติในการขยายและหดตัวของหลอดเลือด นอกจากนี้อาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น ระดับความเครียด การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หมดประจำเดือน โรคอ้วน การป้องกันและบรรเทาอาการไมเกรน ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนวันละ7-8 ชั่วโมง บริโภคอาหารให้เป็นเวลา ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ จะป้องกันอาการปวดหัวได้ หมั่นตรวจความดันโลหิตและดูแลระดับคอเลสเตอรอลให้ปกติ จำกัดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่กรดในกระเพาะไหลย้อนมาในหลอดอาหารทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร เมื่อมีอาหารอยู่ในกระเพาะจะมีกรดออกมาจำนวนมาก เมื่ออาหารได้รับการย่อยแล้วจะถูกบีบไปยังลำไส้เล็ก ดังนั้นหากมีกรดไหลย้อนไปยังหลอดอาหาร จะมีอาการเจ็บหน้าอก ป้องกันโดย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ลดความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ สาเหตุเกิดจากการกลั้นปัสสาวะมากไป รับประทานน้ำไม่เพียงพอ การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน จะมีอาการปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด ครั้งละไม่มาก รู้สึกถ่ายไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เจ็บมากตอนปลายของปัสสาวะ มีอาการปวดที่ท้องน้อยบางรายมีเลือดออกมาด้วย ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน อาการอาจเกิดขึ้นหลังกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือหลังมีเพศสัมพันธุ์ บางคนอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน การป้องกัน พยายามดื่มน้ำมากๆ และอย่ากลั้นปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญเติบโตทำให้เกิดการอักเสบได้ ควรทำความสะอาดบ่อยขึ้น อย่าให้หมักหมม ถ้ามีอาการเป็นมาก อาจต้องพบแพทย์นรีเวช Generation Z หรือ Gen-Z เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2537- ปัจจุบัน หรือ อายุ 1 - 16 ปี มีความเสี่ยงกับโรค โรคสมาธิสั้น เป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในเด็ก โดยแสดงอาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ โดยที่ความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนอายุ 7 ปี มีอาการประกอบด้วย สมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น การรักษาโดยการใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมสมาธิตนเองได้ดีขึ้น มีสมาธิในการเรียนและการทำงาน มากขึ้น สามารถทำงานเสร็จตามกำหนดเวลา ควบคุมพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น เด็กจะเรียบร้อยขึ้น สงบนิ่งได้มาก อย่างเห็นได้ชัดเจน แพทย์จะแนะนำเรื่องการใช้ยาอย่างละเอียด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในบางคน ควรให้ผู้ป่วยและพ่อแม่ทราบก่อนการเริ่มใช้ยา หลังจากนั้นจะมีการติดตามประเมินผลของการใช้ยาอย่างใกล้ชิด โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้กลไกต่างๆ กัน ที่พบได้บ่อยมี 3 โรค ได้แก่ ลมพิษ ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดสัมผัส และผื่นผิวหนังอักเสบเกิดจากภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนังจะมีอาการคันมาก สาเหตุอาจเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ได้ ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ เหงื่อ สารก่อระคายบางชนิด ผ้าขนสัตว์ สัตว์เลี้ยง สบู่ ในเด็กโตความเครียดทำให้ผื่นกำเริบได้ เด็กบางรายเกิดอาการจากภาวะแพ้อาหาร การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดทามักจะได้ผลดี นอกจากนี้การใช้ยาระงับอาการคัน หรือยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่แทรกซ้อน ช่วยให้หายเร็วขึ้น โรคนี้เป็นโรคที่อาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี แต่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ การป้องกัน ควรทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอ ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยๆ ใช้ครีมหรือโลชั่นทาเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังบ่อยๆ สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยลมพิษ ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของลมพิษ ได้แก่ อาหารทะเล, อาหารหมักดอง, อาหารที่มียากันบูด, อาหารกระป๋อง, ถั่ว, เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เพราะอาจมียาปฏิชีวนะตกค้างอยู่ในเนื้อ นอกจากนี้ผัก ผลไม้ที่รับประทานควรแช่น้ำและล้างให้สะอาด ควรดื่มน้ำมากๆ และควรระวังไม่ให้ท้องผูก เพื่อเป็นการกำจัดของเสียออกทางอุจจาระ โรคไข้หวัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ระบาดได้ตลอดปีมักเกิดในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง โดย : การหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป หรือสัมผัสกับน้ำมูก,น้ำลาย,เสมหะของผู้ป่วย รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย การรักษา พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขลักษณะที่ดีอยู่เสมอ ในห้องนอนควรจัดให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และย่อยง่าย ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ปิดจมูก ปาก เวลาไอหรือจาม และบ้วนน้ำลายลงในภาชนะที่ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนใน Generation ไหน? คุณก็สามารถมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้ เพียงแค่หันกลับมาดูแล ใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพของคุณและคนที่คุณรักและอย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีจะได้อยู่คู่กับคุณตลอดไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1719 โรงพยาบาลกรุงเทพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ