กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท. สผ.) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีมากพอ การสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการถือสัมปทานปิโตรเลียม และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแผนการลงทุนมูลค่าสูงในช่วงปี 2553-2557 และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้
แม้จะต้องเผชิญกับแผนการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2553-2557 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งจากความผันผวนของราคาปิโตรเลียมและความเสี่ยงจากการดำเนินงานของโครงการในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ปตท. สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2553 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ถือหุ้นใน ปตท. สผ. จำนวน 65.4% ทั้ง ปตท. และ ปตท. สผ. ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย ในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท. สผ. จึงมักได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนธันวาคม 2552 ปตท. สผ. มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดซึ่งรวมถึงแหล่งน้ำมันในต่างประเทศที่ระดับ 1,099 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 16.4% เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยปริมาณสำรองที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงการเอ็ม 9 เป็นหลักเนื่องจากบริษัทประสบความสำเร็จในการเจรจาและได้ข้อสรุปเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท. และรัฐบาลประเทศพม่า ส่งผลให้ปริมาณสำรองจากโครงการในต่างประเทศคิดเป็น 40% ของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 31% ในปี 2551เมื่อพิจารณาจากปริมาณขายที่ 233,756 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2552 แล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทน่าจะใช้ได้นานประมาณ 12 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสำรองของผู้ประกอบการระดับโลกที่มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 10-15 ปี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2553 บริษัทมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 42 โครงการ โดย 19 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการระดับโลกรายอื่นแล้ว ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ปตท. สผ. จัดว่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต (Lifting Cost) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2551 เป็น 3.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในโครงการผลิตแหล่งใหม่เป็นสำคัญ บริษัทมีต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุด ณ ปี 2552 ลดลงเป็น 11.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จาก 15.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2551 เพราะปริมาณสำรองของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ฐานะทางการเงินของ ปตท. สผ. ยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับแข็งแรงที่ 33.4% แม้จะเพิ่มขึ้นจาก 13.8% ในปี 2551 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่สูงจากการพัฒนาโครงการอาทิตย์เหนือและโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้งมีการลงทุนซื้อแหล่งปิโตรเลียมจำนวนหลายโครงการในประเทศออสเตรเลีย อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 46.2 เท่าในปี 2552 ราคาปิโตรเลียมที่อ่อนตัวลงในปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 ทำให้บริษัทมียอดขายลดลง 12.9% เป็น 115,548 ล้านบาท ทั้งที่มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 6.6% เป็น 233,756 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 71.6% ในปี 2552 ลดลงเล็กน้อยจาก 74.1% ในปี 2551 กำไรสุทธิลดลง 46.8% เป็น 22,154 ล้านบาท โดยบริษัทบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลและเพลิงไหม้บริเวณหลุมพัฒนามอนทาราในประเทศออสเตรเลียจำนวน 9,086 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะมีอีกประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทในปี 2553 อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากวงเงินประกันภัยที่เหลืออยู่อีก 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2553-2554 ทั้งนี้ คาดว่าโครงการมอนทาราจะเลื่อนการผลิตออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2554
แผนการลงทุน 5 ปีของ ปตท. สผ. (2553-2557) ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและฝ่ายดำเนินงานรวม 429,096 ล้านบาทนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าแผนเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งประมาณ 65% ของงบลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการในประเทศไทย (59%) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (24%) และประเทศออสเตรเลีย (13%) งบลงทุนที่ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2553-2554 คาดว่าจะจัดหาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจำนวน 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปีเป็นส่วนใหญ่ การจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปีนั้นจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเนื่องจากบริษัทยังมีสภาพคล่องในระดับสูงจากการมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมทั้งสิ้นอีก 48,678 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PTEP106A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ AAA
PTTEP125A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 18,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
PTEP126A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
PTTEP135A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
PTTEP145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 11,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ AAA
PTEP183A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ AAA
PTTEP195A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ AAA
PTEP226A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 คงเดิมที่ AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)