กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สสปน.
สสปน. ย้ำจุดยืน เดินตามนโยบายการดึงงานในอุตสาหกรรมไมซ์ที่มีขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Mega Event เตรียมยื่นกรอบนำเสนอ ครม. ชูไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน เวิล์ด เอ็กซ์โป 2020 มั่นใจเป็นผลดีต่ออนาคตของชาติ และเป็นข่าวดีที่คนไทยต้องการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศในสายตานานาประเทศ พร้อมเผยผลกระทบเล็กน้อยต่ออุตสาหกรรมไมซ์จากสถานการณ์ความผันผวนทางการเมือง
นายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า จากสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ หลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วงในภาคอุตสาหกรรมไมซ์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และนักลงทุน โดยสสปน. ได้แบ่งทีมงานออกเป็น 2 ส่วน ทั้งด้านทีมการสื่อสาร และทีมจัดการดูแลส่วนงานและลูกค้าที่สสปน. ให้การสนับสนุน โดยมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยปัจจุบัน แทบจะยังไม่มีผลกระทบต่องานที่สสปน. ให้การสนับสนุนมากนัก มีเพียงการจัดงานในกลุ่มการประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่ยกเลิก 1 งาน จำนวน 120 คน และงานที่เลื่อนออกไปอีก 3 งาน จากเดิมจัดงานในเดือนมีนาคมเป็นจัดงานในเดือนพฤษภาคม ในส่วนงานด้านการจัดประชุมนานาชาติ ไม่มีการยกเลิก แต่มี 2 งานที่จากเดิมจัดในเดือนมีนาคม และเลื่อนไปจัดในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ในส่วนงานแสดงสินค้านานาชาตินับว่าเป็นตลาดที่ไม่มีผลกระทบใดใดเลย รวมงานที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นจำนวน 6 งาน หรือประมาณ 4,664 คนที่มีผลกระทบ และประมาณการสูญเสียรายได้ประมาณ 335.8 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่มีผลกระทบน้อย ทั้งนี้เชื่อว่าหากมองสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ในสายตาต่างชาติ แทบจะไม่มีผลกระทบใดใด และมีความเข้าใจในการชุมนุมที่เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ สสปน. ยังคงสานต่อนโยบายการดึงงานใหญ่ให้กับประเทศ และสำหรับการนำเสนอประเทศไทยเข้าร่วมยื่นประมูลสิทธ์การเป็นเจ้าภาพจัดงาน เวิล์ด เอ็กซ์โป 2020 นั้น ยิ่งเป็นการดำเนินงานที่ต้องเร่งด่วนและเป็นไปตามแผนงานเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับมหภาคให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น โดยมติของบอร์ดสสปน. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งขณะนี้เอกสารในการนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้เสร็จสมบูรณ์ และพร้อมนำเสนอในการประชุมครม. ในวันที่ 30 มีนาคมนี้
หากครม. อนุมัติเห็นชอบในหลักการ น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นข่าวดีของคนไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวได้
นายอรรคพล กล่าวเสริม ว่า “เนื้อหาบทสรุปและข้อเสนอต่อ ครม. โดยภาพรวมแล้ว จะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ด้านความพร้อมของประเทศไทยในทุกด้าน รวมถึงคู่แข่ง และประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ประการสำคัญที่สุด คือ ความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจเอกชน ภาคไมซ์ รวมถึงภาครัฐ และสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนการนำเสนอประเทศไทยเข้าร่วมยื่นประมูลสิทธ์การเป็นเจ้าภาพจัดงาน เวิล์ด เอ็กซ์โป 2020 รวมถึงรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมงาน Open Day จากทุกภาคส่วนกว่า 450 รายทั่วประเทศ ทั้งนี้ได้มีการรายงานสรุปแนวทางการดำเนินงานของสสปน. ทั้งสิ้น 4 ระยะ ตั้งแต่ในระยะที่ 1 การศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิล์ด เอ็กซ์โป 2020 (ตุลาคม 2552 — มกราคม 2553) ระยะที่ 2 การให้ความรู้แก่สื่อมวลชนและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (ตุลาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553) ระยะที่ 3 การระดมความคิดการเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิล์ด เอ็กซ์โป 2020 (กุมภาพันธ์ 2553) กระทั่งหากมติครม. เห็นควร สสปน. ก็ได้เตรียมการเบื้องต้น ในระยะที่ 4 เพื่อประกาศการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวิล์ด เอ็กซ์โป 2020 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการในงานเวิล์ด เอ็กซ์โป 2010 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน (มิถุนายน 2553) เช่นเดียวกัน”
ด้านข้อเสนอเพื่อพิจารณาต่อครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการที่ประเทศไทยจะเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดงานเวิล์ดเอ็กซ์โป 2020 ในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต มี 3 ข้อหลัก ได้แก่
1. เสนอแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อศึกษาขั้นตอนการดำเนินการเตรียมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2554
2. เสนอแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในอนาคต อาทิ การเลือกสถานที่ตั้งของโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนของรัฐบาล ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐาน การคัดเลือกหัวข้อ (Theme) ของงานที่เหมาะสม รวมทั้งการคำนวณงบประมาณเบื้องต้น ที่จะต้องใช้ในแต่ละขั้นตอนการเตรียมการ
3. เสนอแนวทางการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับและสร้างความร่วมมือร่วมใจในการร่วมเป็นเจ้าภาพงานมหกรรม World Expo 2020 โดยมีเป้าหมายที่จะประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวของประเทศไทยในงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553
ทั้งนี้ การดำเนินการประชาสัมพันธ์ในเบื้องต้นจะใช้จากงบประมาณของสสปน. ในปี 2553 โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จึงจะมีการเสนอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการในปีต่อไป
นายอรรคพล กล่าวทิ้งท้าย ถึงการดำเนินงานของสสปน. ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองวันนี้ว่า “ณ วันนี้ สสปน. ยังคงดำเนินงานตามทุกแผนงานเดิมประจำปี ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนแผนงานแต่อย่างใด อาทิ การจัดงานใหญ่ของสสปน. ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ งานประกาศรางวัลการประกวดในโครงการ Thailand Creative Event Awards ที่ชูจุดขายเชิงสร้างสรรค์ของไทยสู้ศึกตลาดไมซ์ต่างประเทศ โดยการประกวดเป็นปีแรกและปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา
ซึ่งการประกาศผลรางวัลจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม นี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาการจัดงานที่มีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
ตอบโจทย์การชูนโยบายความคิดสร้างสรรค์ของรัฐ และเป้าหมายในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีการจัดงานที่มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในระดับภูมิภาคเอเซียที่เป็นที่รู้จักกันในระดับโลก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี ผู้จัดการอาวุโส (ปุ้ม)
โทร 0-2694-6092 อีเมลล์ parichat_s@tceb.or.th
คุณสุเมธ กาญจนพันธุ์ ผู้จัดการ (เดียร์)
โทร 0-2694-6096 อีเมลล์ sumet_k@tceb.or.th