กระทรวงวิทย์ฯ จับมือกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday January 24, 2007 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--PR Origins
กระทรวงวิทย์ฯ จับมือกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง ช่วยคนไทยได้รับการรักษาทางทันตกรรมมากขึ้น พร้อมลดรายจ่ายการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
สองกระทรวงใหญ่รับลูก หลังภาครัฐมอบนโยบายให้คนไทยสร้างเทคโนโลยีขึ้นใช้เอง ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้ความร่วมมือ ชี้การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะด้านทันตกรรมขั้นสูง เพราะช่วยเปิดโอกาสให้คนไทยมีคุณภาพชีวิต และมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น พร้อมลดรายจ่ายจากการนำเข้าเทคโนโลยีการรักษาและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระทรวงสาธารณสุข ถึงที่มาของความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีทางทันตกรรมของทั้งสองกระทรวงฯ ว่า จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานเน้นการสร้างความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยขึ้นใช้เอง ซึ่งที่ผ่านมาทุกหน่วยงานก็ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ตลอดมา สำหรับในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น นอกจากจะมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของชาติในทุกๆ ด้านแล้ว ในส่วนการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ทางกระทรวงฯ ก็ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยได้ให้การส่งเสริมทั้งในด้านวิชาการ ด้านเทคนิคการรักษา ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
โดยในส่วนของเทคโนโลยีทางด้านทันตกรรมนั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความจำเป็นต่อประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุยังประสบกับปัญหาด้านสุขอนามัยในช่องปาก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาด้านทันตกรรมยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและเครื่องมือจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ภาครัฐต้องใช้งบประมาณสูงในการจัดหาเทคโนโลยีและเครื่องมือในการรักษา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านทันตกรรมขั้นสูงขึ้นใช้เองได้ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิต และการดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถทำได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีทางด้านทันตกรรมจากต่างประเทศ และสามารถส่งเทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้น ไปจำหน่ายถือเป็นการสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับวงการวิทยาศาสตร์และวงการทันตแพทย์ของไทยได้อีกทางหนึ่ง
จากแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดโครงการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงสาธารณสุข ขึ้น โดยใช้ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทันตกรรมของทั้งสองกระทรวง พร้อมทั้งเป็นการสร้างกลไกและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยน ร่วมกันพัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนา และกำหนดแนวทางนโยบายการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ไปสู่เชิงพาณิชย์ด้านอุตสาหกรรมทันตกรรม
ส่วนการปฏิบัติงานนั้น ทางกระทรวงฯ ได้ มอบหมายให้ “ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง” และ “ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกันในการจัดทำชุดโครงการทันตกรรมรากฟันเทียมแบบครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากลขึ้น ซึ่งชุดโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีเป้าหมายเสร็จสิ้นในปี ๒๕๕๐ ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้นกว่า ๒๒ ล้านบาท ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง หรือ (ADTEC) จะให้บริการการรักษาด้านทันตกรรมรากฟันเทียม ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน การให้ข้อมูลก่อนการออกแบบทดลองใช้รากฟันเทียม การให้ข้อมูลหลังการทดลองใช้ และเผยแพร่ด้านนวัตกรรม ส่วนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุที่ใช้เพื่อผลิตรากฟันเทียมที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในราคาต่ำลง และจำหน่ายภายในประเทศ
ด้าน น.พ.สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการความร่วมมือครั้งนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่หลักในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษา และฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการผสมผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสมและเป็นด้วยภูมิปัญญาของเราเอง พร้อมทั้งยังต้องดูแลสุขภาพโดยรวมของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยการบูรณาการศาสตร์ และองค์ความรู้ในงานด้านสุขภาพและมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : กัมปนาท ถวัลย์กิจดำรงค์ โทร: 081 991 3223
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ