iTAP กระชับมิตรเครือข่ายภาคอีสาน ติวเข้มบุคลากร ช่วยผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่

ข่าวเทคโนโลยี Monday July 16, 2007 17:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--iTAP
สวทช. ยกทีม iTAP จัดสัมมนาเครือข่าย “iTAP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรใน 4 เครือข่าย ทั้ง ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.มหาสารคาม และ ม.อุบลราชธานี ให้มีศักยภาพสูง พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือแนะนำผู้ประกอบการในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ยกคาราวานนำเจ้าหน้าที่ iTAP ส่วนกลางลงพื้นที่ จัดการสัมมนาเครือข่าย iTAP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของเครือข่าย iTAP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของบุคลากรของเครือข่าย iTAP รวมทั้งพัฒนาและกระตุ้นบุคลากรให้มีความพร้อม มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) และผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP) เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนรวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถประยุกต์โดยใช้งานวิจัยก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
“โครงการ iTAP ก่อตั้งขึ้นมาด้วยกลยุทธ์ มีกระบวนการที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการโดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่มุ่งหวังที่จะเห็นผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นๆ ซึ่งทางโครงการจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาเทคโนโลยีเข้าไปคอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือตลอดระยะเวลาจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ”
ทั้งนี้ โครงการ iTAP ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่โดยจะมีการประเมินผลเมื่อดำเนินโครงการผ่านไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพื่อประเมินความก้าวหน้า ให้ทุกฝ่ายรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข ตรงนี้นับเป็นกุศโลบายที่ดีมาก
รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีโครงการที่ทำในลักษณะคล้ายกับ iTAP ค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง ความเหมือนก็คือทุกคนต่างมุ่งประเด็นเดียวกันที่ต้องการจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 90% เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม ทุกคนจึงต่างมุ่งหวังเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนความแตกต่างคือโครงการเหล่านั้นจะมาเป็นช่วงๆ แรงเป็นช่วงๆ แล้วก็หายไป ขาดความต่อเนื่อง ดำเนินการในระยะยาวไม่ได้ ที่สำคัญคือคาดหวังไม่ได้ว่าอนาคตจะมีมาอีกหรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งบรรดาผู้ประกอบการก็ค่อยๆ กลับมาหา iTAP เพราะเขาพบว่าการดำเนินการไม่เหมือนกัน
“โครงการ iTAP เชื่อว่าการที่จะพัฒนาธุรกิจ พัฒนาอุตสาหกรรม หรือพัฒนาเทคโนโลยีนั้นผู้ประกอบการจะสามารถทำได้ต่อเมื่อเราทำให้เขาดูในสภาพแวดล้อมของเขา iTAP ไม่เชื่อว่าการที่ได้ไปเห็นสิ่งใดที่ดีแล้วกลับมาเล่าให้ฟังก็จะทำได้ ดังนั้น iTAP จึงได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมของสถานประกอบการแล้วเสริมหรือดัดแปลงบางอย่างเพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ ตรงนี้ถือเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญยิ่งทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และด้วยการที่โครงการ iTAP มีงบประมาณอย่างจำกัด เราจึงเน้นที่จะใช้เงินในที่ที่เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทั้งด้านการตลาด การเงิน และการจัดการ มีความตั้งใจจริงๆ เราจะไม่โยนเงินลงไปในเหวเด็ดขาด”
ด้านนางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการ iTAP กล่าวเสริมว่า การจัดการประชุมเครือข่ายภาคอีสานโดยเฉพาะครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกัน เนื่องจากการทำงานของโครงการ iTAP นั้นเป็นการทำงานผ่านคน ดังนั้นจำเป็นต้องรู้จักกันเองก่อนที่จะรู้จักคนอื่น เป็นการเพาะปลูกความสัมพันธ์กันเอง ซึ่งความสัมพันธ์ที่ง่ายและเร็วที่สุดคือความสัมพันธ์ภายใน ส่วนที่เราจะไปติดต่อกับผู้ประกอบการหรือหน่วยงานต่างๆ ตรงนั้นเป็นความสัมพันธ์ภายนอกที่เป็นหน้าที่ของเรา
ปัจจุบันโครงการ iTAP มีเครือข่าย 9 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศประกอบด้วยเครือข่ายภาคอีสาน 4 แห่ง เครือข่ายภาคเหนือ เครือข่ายภาคตะวันออก เครือข่ายภาคตะวันตก เครือข่ายภาคใต้ และส่วนกลาง ดำเนินงานโดยมีกลยุทธ์สำคัญคือมุ่งสร้างผลงานให้กับผู้ประกอบการที่เป็นเอกชน กลุ่มบริษัท หรือรายบริษัทต่างๆ ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพจากข้างใน สื่อข้อมูลต่างๆ หากลไกใหม่ๆ มาเสริมเสมือนเป็นการติดอาวุธ ที่สำคัญที่สุดคือสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรของเราเอง
“ขณะนี้โครงการ iTAP มีบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีบ่มเพาะ เราสามารถที่จะให้บริการ สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกสาขาได้ทั่วประเทศโดยมีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ทั้ง 7 กลุ่ม คือ กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ กลุ่มซอฟต์แวร์ กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ (พลาสติก โลหะ ยาง เคมี) กลุ่มไม้และเครื่องเรือน กลุ่มอาหารและเกษตร และกลุ่มสิ่งทอ ไว้คอยช่วยเหลือแนะนำให้บริหารให้คำปรึกษาอุตสาหกรรม และจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ด้วยทีมงานที่ปรึกษาเทคโนโลยี พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ”
ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นดังกล่าว โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP ) ได้สานสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้มีความอยู่รอด โดยที่ผู้ประกอบการต้องมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงรูปแบบองค์กร วิธีการบริหาร ความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพได้ในที่สุด.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
โทร. 0-2270-1350-54 ต่อ 114,115
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ