กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน เดินหน้า ต่อยอดผลงานในรอบ 6 เดือน ชี้ เร่งการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดมลภาวะ เพิ่มการมีส่วนร่วมด้านพลังงานภาคประชาชน ผลักดันกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หวังลดค่าไฟฟ้าประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า หาแหล่งพลังงานในและต่างประเทศเพิ่ม มั่นใจ ทิศทางส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล เอ็นจีวี ไปถูกทาง พร้อมผลักดัน เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใหม่ในอนาคต
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ในช่วง 6 เดือนทีผ่านมา(ต.ค.- มี.ค.50) กระทรวงพลังงานได้มีผลงานสำคัญ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของรัฐบาลนั้น กระทรวงพลังงานจะเร่ง สานต่อโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่ การประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และเอ็นจีวี เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมการวางรากฐานสำหรับการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
ทั้งนี้ การเร่งดำเนินการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) โดยจะมีความต้องการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบภายในปี 2555 — 2557 กระทรวงพลังงานได้กำหนดแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งโรงไฟฟ้าเก่า เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า พัฒนาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และกระจายผลประโยชน์ต่อชุมชนอย่างทั่วถึง ที่สำคัญเงินจากกองทุนฯ จะมีส่วนมาช่วยลดค่าไฟฟ้าของชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้ ได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าเก่า และใหม่ ต้องจ่ายเงินกองทุนเป็น 2 ช่วงคือ 1. ระหว่างการก่อสร้างจะต้องจ่ายตามกำลังผลิตติดตั้ง (บาท/เมกะวัตต์) 2. ภายหลังจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ต้องจ่ายตามหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (สตางค์ต่อหน่วย) ในอัตราที่แตกต่างกันตามการปล่อยมลภาวะจากการเผาไหม้ของประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้
การขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก (SPP) จากพลังงานหมุนเวียน โดยกำหนดอัตราสูงสุดของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในอัตรา 0.30 - 2.50 บาทต่อหน่วย โดยกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) จำนวน 500 เมกะวัตต์ และจะเปิดให้มีการประมูลแข่งขัน SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน จำนวน 530 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 100 เมกะวัตต์ พลังงานลม จำนวน 115 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 15 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น ๆ เช่น แกลบ เศษไม้ ขยะ พลังน้ำ กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่คาดว่าจะรับซื้อรวม 300 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ด้านการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงให้กับประชาชน จากเดิมที่ใช้อยู่ 3.3 ล้านลิตรต่อวัน ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 4 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะเร่งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ได้ใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาวัตถุดิบ(เอทานอล) ล้นตลาด และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการใช้เป็น 20 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2554 โดยยังคงกลไกด้านราคาที่มีราคาต่ำกว่า น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ 2.50 บาทต่อลิตร
ด้านการส่งเสริมไบโอดีเซล จะพยายามผลักดันวัตถุดิบในประเทศเป็นลำดับแรก เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมาตรการบังคับให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติต้องผสมไบโอดีเซล B100 ระดับ 2% หรือ B2 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 51 เป็นต้นไป (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ผลิต) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล B100 จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 42,000 ลิตร เพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ไบโอดีเซล B5 มีราคาต่ำกว่า น้ำมันดีเซล 70 ส.ต.ต่อลิตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ด้านการบริหารหนี้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการลดหนี้สินสุทธิ กองทุนฯ จาก 50,407 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.2549 เหลือประมาณ 27,500 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งหลังจากนั้น จะทำราคาน้ำมันลดลงมาสามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สำหรับการคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือค่าเอฟที ในงวดต่อไป (มิ.ย.- ก.ย.50) กระทรวงพลังงานจะกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมา ค่าเอฟทีในรอบปัจจุบัน (ก.พ. — พ.ค.50) สามารถปรับลดลงได้ 5 สตางค์ต่อหน่วย
ในส่วนของการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงพลังงานจะเร่งออกการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ วัสดุ อุปกรณ์ ประหยัดพลังงาน การจ่ายฉลากเบอร์ 5 ให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า จำนวน 8 ชนิด (ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ บัลลาสต์ พัดลม หม้อหุงข้าว หลอดตะเกียบ โคมไฟฟ้า) รวมทั้งการส่งเสริมการใช้หลอดตะเกียบทั่วประเทศแทน หลอดใส้ที่อยู่ประมาณ 30 ล้านหลอดทั่วประเทศ ภายในเดือนธันวาคม 2551 โดยตั้งเป้าประหยัดไฟฟ้าได้ปีละ 1,000 ล้านบาท รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 8.3% โดยมีเป้าหมายการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ ภายในปี 2554 ได้แก่ แสงอาทิตย์ 55 เมกะวัตต์ ลม 110 เมกะวัตต์ น้ำ 156 เมกะวัตต์ ชีวมวล 2,800 เมกะวัตต์ ขยะ 100 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 30 เมกะวัตต์ การใช้เอทานอล 3 ล้านลิตร ต่อวัน และ ไบโอดีเซล 4 ล้านลิตรต่อวัน
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มว่า เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า PDP2007 ซึ่งต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ภายในปี 2563 ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายบางฉบับ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ในอนาคต เตรียมพร้อมกฎระเบียบด้านความปลอดภัย และเตรียมบุคลากรที่เหมาะสม รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนควบคู่ไปด้วย
อนึ่ง ผลงานกระทรวงพลังงาน ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย เรื่องสำคัญ ๆ อาทิ ดำเนินการเสนอแก้ไข พระราชบัญญัติ 5 ฉบับ ประกอบด้วย พรบ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พรบ.คณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 พรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 พรบ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 และพรบ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เพื่อให้การบริหารจัดการด้านพลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด การแก้ไขพระราชกฤษฏีกา 1 ฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฏีกา กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการยกร่างกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสถานภาพปัจจุบัน พระราชบัญญัติที่ได้มีการแก้ไขและยกร่างอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา 6 ฉบับ และสำหรับพระราชกฤษฎีกา ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 ฉบับ
การออกกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 บังคับให้ผู้ค้าน้ำมันต้องควบคุมก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการระเหยของน้ำมันเบนซิน ระหว่างการถ่ายเทน้ำมันตั้งแต่คลังน้ำมัน สถานีบริการ และรถขนส่งน้ำมัน โดยผู้ค้าน้ำมันต้องติดตั้งระบบควบคุมป้องกันการกระจายของไอน้ำมันไปสู่อากาศ หรือ VRU เพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนใกล้เคียงสถานีบริการน้ำมัน เบื้องต้นบังคับใช้ใน กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และได้เพิ่มเติมอีก 7 จังหวัดที่มีการก่อไอน้ำมันมาก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง สระบุรี อยุธยา สมุทรสาคร สุราษฏร์ธานี และสงขลา รวมทั้งการออกประกาศในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ การออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเก็บรักษา การขนส่ง การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ วัตถุอันตรายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มที่เกิดขึ้นใหม่ ต้องเป็นอาคารเอกเทศ ไม่อยู่ในตึกแถว ห้องแถว และกำหนดลักษณะรถขนส่งก๊าซหุงต้ม ต้องมีความปลอดภัยสูงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
ความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ภายหลังการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้งสองแห่งได้ออกประกาศให้ส่วนเพิ่ม (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ เดือนมีนาคม 2550 มีโครงการยื่นแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า 35 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 187 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการ SPP เดิม และ VSPP ที่ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จำนวน 15 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 96.40 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการ VSPP ใหม่ จำนวน 20 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย 90.20 เมกะวัตต์
เร่งรัดการออกสัมปทานเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศ เพื่อหาพลังงานเชื้อเพลิง เพิ่มเติม โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ออกสัมปทานปิโตรเลียม 14 ราย จากแปลงสำรวจ ทั้งสิ้น 22 แปลง โดยลงนามไปแล้ว 13 ราย ใน 18 แปลงสำรวจ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมสำรวจและปิโตรเลียมรวมทุกสัมปทานในประเทศจากภาคเอกชน ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งจะมีการเปิดให้ยื่นสัมปทานรอบใหม่ (รอบที่ 20 ) อีก ประมาณไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
การสร้างให้เกิดบรรทัดฐานให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนพลังงานชุมชน ตั้งเป้าหมายปี 2550 ให้เกิดการวางแผนพลังงาน 80 ชุมชนทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มุ่งเน้นภาคประชาชนในการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกำหนดแผนพลังงานของตนเอง ด้วยการใช้กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น