กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กทม.
กทม. รับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ตั้งคณะทำงานส่วนกลาง และรุกงานด้านคุ้มครองเด็กโดยเตรียมตั้งคณะกรรมการระดับกลุ่มเขต ประสานการทำงานแบบบูรณาการพร้อมตั้งคณะทำงานสหวิชาชีพระดับกลุ่มเขตมีแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ ทำงานร่วมกันคุ้มครองเด็ก
นายชนินทร์ รุ่งแสง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2550 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบาย ด้านการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยได้ตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร ได้มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปกป้องคุ้มครองเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการรายงานเริ่ม จากการตั้งคณะกรรมการฯ มีการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเด็ก จำนวน 55 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย และปัญหาครอบครัว ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือไปแล้วทั้งหมด
นายชนินทร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การปกป้องคุ้มครองเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีความคืบหน้าไปตามแผนการ ส่วนการเตรียมการด้านเจ้าหน้าที่นั้นจะมีการอบรมหลักสูตร "พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546" รุ่นที่ 19 ระหว่างวันที่ 14 พ.ค. - 1 มิ.ย. 50 และรุ่นที่ 20 วันที่ 4-27 มิ.ย. 50 ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรุงเทพมหานครจะส่งเจ้าหน้าที่อบรมรุ่นละ 5 คน นอกจากนั้นแล้วกรุงเทพมหานครจะขยายการดำเนินการด้านการคุ้มครองเด็กของกรุงเทพมหานคร ไปยังระดับกลุ่มเขตทั้ง 12 กลุ่ม เพื่อให้สำนักงานที่เป็นประธาน กลุ่มเขต กท.1-กท.12 จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับกลุ่มเขต ซึ่งจะร่างคำสั่งและนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามในเร็วๆ นี้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ระดับกลุ่มเขตจะมีอำนาจหน้าที่เสนอแผนงาน แสดงความคิดเห็นในการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กในเขตพื้นที่ ให้คำปรึกษา แนะนำ ประสานงานและกำหนดแนวทางการศึกษา การสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก พร้อมติดตามผลเพื่อประสานการรายงานผลการปฏิบัติงานไปยังคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า สำนักพัฒนาสังคม กทม. ได้จัดทำแนวทางโครงสร้างคณะทำงานสหวิชาชีพระดับกลุ่มเขต เพื่อให้ประธานแต่ละกลุ่มเขตใช้เป็นแนวทางในการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งจะประกอบด้วย แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างครบวงจร โดยเฉพาะกรณีที่การละเมิดต่อเด็กมีความยุ่งยากซับซ้อน อาทิ ผู้ปกครองเด็ก บุคคลในครอบครัวเด็ก เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้มีอิทธิพลเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้หากผลการดำเนินงานระดับกลุ่มเขตสามารถเห็นผลที่น่าพอใจจะขยายการจัดตั้งคณะกรรมการในระดับเขตต่อไป