กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สศอ.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เดินสายพบผู้ประกอบการ 4 ภาค ประเดิมที่ภาคตะวันออก ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการผลักดันแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา พ.ศ. 2551 — 2555 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมไทยทุกประเภท จำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ประเทศคู่แข่งกำลังมาตีตลาดมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำแผนแม่บททั้งสองฉบับขึ้น เพื่อพัฒนาทั้งประสิทธิภาพในการผลิต และการพัฒนาทางปัญญาเพื่อแปลงปัญญาให้มีค่าเป็นเงิน หรือการพัฒนาคนให้มีความพร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในฐานะผู้มีหน้าที่ชี้แนะแนวทางในการพัฒนา และเตือนภัยให้แก่อุตสาหกรรมจึงได้รับหน้าที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะช่วยกันผลักดันให้การปฏิบัติตามแผนแม่บทมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
นายประเสริฐ ตปนียางกูร ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาจะช่วยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปูรากฐานการสร้างความเข้มแข็งในระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไปข้างหน้า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาทั้งด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน อุตสาหกรรมไทยจึงจะมีความแข็งแกร่งจนสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันได้ในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง”
แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพละผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551 — 2555 มีจุดประสงค์หลักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง โดยมุ่งเน้น
การผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง ภายใต้แผนดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม
ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาความสามารถ ทักษะแรงงาน การยกระดับการบริหารจัดการ
การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี สนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมโครงการมากขึ้นจาก 13 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็น 25 กลุ่ม และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มจาก 4,500 รายเป็น 9,000 รายเมื่อสิ้นสุดโครงการ
ส่วนแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญานั้น มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ที่ตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ สร้างโครงสร้างทางปัญญาที่เข้มแข็ง ทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ซึ่งจะสนับสนุนให้มีการกระจายความรู้และใช้ความรู้อย่างทั่วถึง ทำให้ภาคการผลิตสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตความรู้ ผู้ใช้ความรู้และการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายของแผนแม่บทโครงสร้างปัญญาพื้นฐานนั้น คือ ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตร้อยละ 35 สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ เกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ การศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในด้านบุคลากรวิจัยและพัฒนา และสิทธิบัตรที่จัดทำโดย สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) หรือ ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น
ในการเดินสายพบปะกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทาง สศอ. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในการให้ความรู้และจัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ โดยในการพบปะกับผู้ประกอบการในภาคตะวันออก ได้รับความร่วมมือจากสถาบันยานยนต์ สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดของแต่ละภูมิภาคในการนำเสนอโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ด้วย
ดร. อรรชกากล่าวสรุปว่า “ความร่วมมือจากสถาบันตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้แผนแม่บทนี้ประสบความสำเร็จและเกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะสถาบันเหล่านี้เป็นผู้ที่ทราบดีถึงประเด็น ความท้าทายที่แต่ละอุตสาหกรรมเผชิญอยู่ และจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เราเชื่อว่า การพบปะกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจ และการร่วมมือกันเป็นอย่างดีต่อไป
หลังจากการพบปะผู้ประกอบการในภาคตะวันออกแล้ว ทาง สศอ. พร้อมด้วยพันธมิตร ได้แก่ สถาบันและองค์กรที่เป็นตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จะจัดกิจกรรมพบปะกับผู้ประกอบการในภาคอื่นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ที่จังหวัดตรังต่อไป
ข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเป็นศูนย์รวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและแจ้งเตือนผู้ประกอบการเมื่อมีสัญญาณว่าอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และรับมือกับสถานการต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถพัฒนาศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน