กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--TCELS
TCELS จับมือเครือข่ายพันธมิตร ยึดหัวหาด 2 เวทีระดับนาชาติ โชว์การค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์เป็นครั้งแรกของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์รามาฯ ในงานไบโอสหรัฐ และส่งครีมหน้าขาวจากน้ำยางพารา จากฝีมือนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตีตลาดเครื่องสำอางเมืองโสมในงานโบโอเกาหลี เผยปีที่ผ่านมาเกิดเครือข่ายความร่วมมือและมูลค่าทางธุรกิจกว่า 500 ล้านบาท
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรประกอบไปด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาคเอกชน เข้าร่วมงาน Bio International Convention 2010 ณ เมืองชิคาโก มลรัฐอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-6 พฤษภาคม 2553 เพื่อนำเสนอนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ในรูปของ ผลิตภัณฑ์ และบริการของประเทศไทย โดยงานดังกล่าวถือเป็นการประชุมและการจัดนิทรรศการด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบรรดาภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการจากทั่วโลกร่วม 2,000 บริษัท และกว่า 60 พาวิลเลียนบูธ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน
นายสุริยัน ปานเพ็ง รักษาการผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า การเข้าร่วมงานดังกล่าว ถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะประชาสัมพันธ์ผลงานความก้าวหน้าด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติสาขาชีววิทยาศาสตร์ให้เข้ามาในประเทศไทย โดยในปีนี้ TCELS จะนำเสนอผลงานการค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ เนวิราปินและดีโฟว์ที ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลกโดยนักวิทยาศาสตร์ในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่ง TCELS ให้การสนับสนุนรวมทั้งจะนำเสนอผลงาน การพัฒนาการวิจัยก่อนคลินิกที่ได้มาตรฐานสากล และการพัฒนางานวิจัยทางคลินิก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความพร้อมให้ความร่วมมือในการวิจัยและการให้บริการด้วย
นายสุริยัน กล่าวว่า นอกจากนี้ TCELS ยังมีความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเกาหลี โดยในการประชุม Bio Korea หลายปีที่ผ่านมา TCELS ก็เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง โดยในงาน Bio Korea 2009 TCELS ร่วมกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (iTAP) จาก สวทช. สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์สัตว์ทดลองมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และบริษัทเอกชนอีก 14 บริษัท เข้าร่วมงานและเกิดเครือข่ายความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ทั้งด้านพัฒนาการวิจัย พัฒนาการผลิตยาของประเทศเกาหลี และจากการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างกันของผู้วิจัยพัฒนา ผู้ผลิตและเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและประเทศเกาหลีจำนวน 16 ราย เกิดมูลค่าทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ TCELS และเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีแผนจะเข้าร่วมงานอีกครั้ง โดยงานจะมีขึ้นในราวเดือนกันยายน 2553
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026445499 tces