บล.ไทยพาณิชย์: นักลงทุนต่างชาติยังคงมองตลาดไทยเป็นบวก

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2007 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--บล.ไทยพาณิชย์
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา บล.ไทยพาณิชย์ได้จัดงานสัมมนา “การลงทุนออนไลน์ กับมุมมองสไตล์ต่างชาติ” ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในช่วง “ตลาดไทยในมุมมองฝรั่ง” ซึ่งเป็นการเสวนาระหว่าง มร. โทมัส ฮิลบอลท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ และคุณอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ มร.โทมัส ได้กล่าวถึงมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยว่า ประเด็นหลักที่ บล.ไทยพาณิชย์เชื่อว่าเป็นลักษณะโดยทั่วไปของนักลงทุนต่างชาติ (Average Foreign Investor) ได้แก่ การจัดสรรเวลา โดยนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่มีเวลาไม่ถึง 30 นาทีต่อ 1 สัปดาห์ในการพิจารณาตลาดหุ้นไทย ลำดับต่อมาคือลักษณะการวิเคราะห์ นักลงทุนต่างชาติมีลักษณะของการมองจากบนลงล่าง (Top-down Approach)”สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น มร.โทมัสกล่าวว่า “ประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนเป็นการลงทุนที่อิงกับดัชนีตลาด (Index Benchmarking) ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนแบบเน้นกำไรหรือเอาชนะตลาด (Alpha-type Investment) ในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ยอดซื้อขายสุทธิต่อวันของนักลงทุนต่างชาติมีผลส่วนใหญ่มาจากการไหลเข้าออกของเงินทุนของกองทุนหุ้นที่อยู่ในต่างประเทศ ส่วนประเด็นที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้น (Theme) ที่จะทำให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลงนั้น นักลงทุนต่างชาติประมาณ 30-50% จะใช้ Theme สำหรับการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเป็นไปตาม Themes ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก”
ทั้งนี้ ลักษณะอื่น ๆของนักลงทุนต่างชาติ เช่น นักลงทุนต่างชาติหลายรายที่ลงทุนในไทยมานานและรู้จักตลาดและบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เป็นอย่างดี บางส่วนเป็นนักลงทุนใหม่ที่เข้ามาลงทุนในไทยได้ไม่นานนักและไม่ค่อยรู้จักบริษัทในไทยมากนัก กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ลงทุนแบบมองภาพใหญ่ (Macro Investing) ส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนได้อย่างรวดเร็วและทำตามความเห็นของโบรกเกอร์
“ความคิดเห็นที่ได้รับจากลุ่มลูกค้าต่างชาติของ บล.ไทยพาณิชย์ส่วนใหญ่นั้น มีความเห็นว่าเนื่องจาก Market cap ของตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็กกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคและตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ในบางครั้งตลาดหุ้นไทยไม่ได้อยู่ในอยู่ในข่ายความสนใจหรือได้รับการวิเคราะห์ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดสถานการณ์ที่นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สภาพของตลาดหุ้นไทยที่กำลังย่ำแย่ และสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม หุ้นขนาดกลางที่น่าสนใจและหุ้นขนาดใหญ่บางตัวยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุนของนักลงทุนอยู่เนื่องจากกองทุนส่วนใหญ่ยังคง Underweight เมืองไทยอยู่ ทั้งนี้ ลูกค้าต่างชาติดูเหมือนว่าจะมองกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่มีความปลอดภัยมากที่สุด ขณะที่มีการเติบโตและความมั่นคงของการทำกำไรในระดับที่ดีและยังมองหาโอกาสในการลงทุนเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง กลุ่มที่สนใจเป็นอันดับต้น ๆ คือ กลุ่มที่เกี่ยวพันกับการบริโภค (Consumer Related)” มร.โทมัสกล่าวเพิ่มเติม
คุณอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้ว่า “สภาวะตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง แต่นักลงทุนยังพอที่จะเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นบางกลุ่มได้ เช่น กลุ่มโรงกลั่น และกลุ่มน้ำมัน โดยที่กลุ่มอื่น ๆ เช่น เดินเรือ และ ถ่านหิน จะเป็นตัวที่นักลงทุนสามารถเข้าซื้อในลักษณะของกึ่งเก็งกำไรตามจังหวะและ วัฏจักรราคา ส่วนการลงทุนกับดัชนีตลาด บล.ไทยพาณิชย์แนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสเปิดสถานะ Short SET50 Futures ที่จะถูกประเด็นการขึ้นเครื่องหมาย XD ในระยะ 3-6 สัปดาห์ข้างหน้ากดดันให้ปรับตัวลดลง โดยรวมแล้ว ดัชนี SET50 จะถูกผลกระทบดังกล่าวอีกประมาณ 6-7 จุด โดยเฉพาะเมื่อหุ้นใหญ่ อย่าง PTTEP PTT KTB จะทยอยจ่ายปันผลในสัปดาห์นี้ การขึ้น XD มีผลในการกดดันมาแล้วประมาณ 4 จุดในเดือนมีนาคม”
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร และพาณิชย์ คุณอดิพงษ์ กล่าวว่า “กลุ่มพลังงานมีกลุ่มต่าง ๆ อยู่หลายกลุ่ม แต่ที่น่าสนใจในตอนนี้คือ กลุ่มโรงกลั่น และ น้ำมัน ขณะที่หุ้นเหมืองและไฟฟ้ามีการปรับตัวขึ้นมาจนถึงระดับที่นักลงทุนระยะยาวควรขายเปลี่ยนกลุ่มไปสู่ 2 กลุ่มแรกที่กล่าวมาแล้ว”
นอกจากนี้ปัจจัยที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีคือ การรวมกิจการของ RRC และ ATC และประเด็นการเปิดประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้า IPP ที่มีโอกาสล่าช้า โดยเฉพาะการคาดการณ์สัดส่วนและวิธีการรวมกิจการระหว่าง RRC กับ ATC จะเป็นปัจจัยกระตุ้นความคึกคักในการเก็งกำไรหลังจากที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ ATC ที่กำลังจะเป็นคู่ Merge กับ RRC และ TOP ที่ทำธุรกิจเดียวกันกับ RRC ได้ปรับตัวขึ้นนำหน้าไปในช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า”
BAY น่าสนใจ
ประเด็นสำหรับกลุ่มธนาคารที่สำคัญคือ การปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งเริ่มสังเกตเห็นได้จากธนาคารบางแห่ง เช่น SCB และ BAY ที่รุกเข้าไปในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะเช่าซื้อ ธุรกิจดังกล่าวในปัจจุบันถูกครอบครองส่วนแบ่งจาก (บริษัทเงินทุนเดิมที่แปรสภาพมาเป็นธนาคารเล็ก) ธนาคารมีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน จึงส่งผลต่อการที่จะเกิดการปรับตัวในกลุ่มผู้นำตลาดสัญญาณการปรับตัวครั้งสำคัญเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีผู้ร่วมทุนต่างชาติรายใหม่ของ TCAP ซึ่งประกาศตัวไปเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา
กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อน่าเป็นห่วง
นักวิเคราะห์กลุ่มการเงินของบล.ไทยพาณิชย์มองว่าหุ้นที่น่าสนใจระยะยาวของกลุ่มคือ BAY โดยคาดว่าจะมีความสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ดี แม้ว่าปัจจุบันจะมี Premium ด้านราคาหุ้นสูงกว่าธนาคารอื่นถึง 2 เท่า คุณอดิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “กองทุนต่างชาติค่อนข้างมั่นใจและไว้ใจกับบริษัทพันธมิตรข้ามชาติอย่าง GE มาก” ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อเดิมที่มีศักยภาพในการปรับตัวต่ำอย่าง KK สำหรับกลุ่มพาณิชย์พบว่า นักลงทุนต่างชาติบางรายให้ความสนใจเป็นพิเศษกับธุรกิจค้าปลีก โดยบางส่วนมองว่าจะได้รับประโยชน์เป็นลำดับต้นๆ เมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใกล้ผ่านจุดต่ำสุด อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กลุ่มพาณิชย์ของเรามองว่า การผ่านพรบ. ค้าปลีกจะมีผลให้การเปิดสาขาในอนาคตชะลอตัว และทำให้การขยายธุรกิจเป็นไปได้ต่ำกว่าศักยภาพที่ต่างชาติคาดการณ์ ดังนั้นแม้ว่าระยะสั้นๆหุ้นอย่าง BIGC และ ROBINS จะปรับตัวได้ดีแต่ “เราแนะนำให้นักลงทุน ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนรอประเด็น พรบ.ให้คลี่คลายเสียก่อน”
คุณยุพเรศ ลิขิตแสนสุข ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ความเห็นต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างว่า “ทิศทางของหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เชื่อว่าจะเป็นในเชิงบวก หรือสามารถปรับตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นในภาพรวมได้ในปีนี้ ปัจจัยที่เรามองว่าจะเป็นตัวกระตุ้นราคาหุ้นได้ดีที่สุดคือดอกเบี้ยอยู่ในขาลงตลอดปี สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันเรามองว่าประเด็นที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจที่มีน้ำหนักมากกว่าอาจเป็นเรื่องของการเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในสภาพที่มีความไม่แน่นอนสูง คนจะซื้อบ้านจะต้องอยู่ในสภาวะที่นิ่งในหลายๆด้าน ทั้งการงานการเงิน แต่ตอนนี้ดูเหมือนหลายคนจะต้องระวังการตัดสินใจไปก่อน”
แนะนำ CK
คุณยุพเรศแนะนำให้ลงทุนโดยให้น้ำหนักปานกลาง และให้รอขายทำกำไรเมื่อกระแสของการเลือกหุ้น แบบ Interest rate Sensitive เริ่มที่จะหมดไป เนื่องจากท้ายสุดแล้ว ความต้องการในกลุ่มบ้านอาจไม่มากจนสามารถรองรับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปได้ ลักษณะหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นในลักษณะของการเลือกตัวลงทุน คือ บริษัทที่มียอดขายจำนวนมาก การมีสินค้าใหม่ๆเข้าไปในตลาด ทำเลที่ตั้งที่ถูกต้อง และการเป็นผู้นำตลาด ซึ่งหุ้นที่เข้าลักษณะดังกล่าว คือ LPN ที่ตอนนี้อยู่ในช่วงของการเจาะตลาดคอนโดที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง คุณยุพเรศให้ความเห็นว่า “เรามองว่าปีนี้อาจไม่ใช่ปีทองของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และราคาหุ้นในกลุ่มนี้ เนื่องจาก ความเสี่ยงจากการลดการลงทุนจากภาครัฐฯ ยังคงมีอยู่และตลาดยังจะมองประเด็นนี้เป็น Sentiment ในเชิงลบ หุ้นที่พอจะคาดหวังได้ในเชิงบวก ก็คือ ผู้ที่ยังมีการทำกำไรได้ในระดับที่ดีในปีนี้ และมีงานในมือ (Backlog) รองรับการทำกำไรอนาคต หุ้นเด่น (Top pick) ของ บล.ไทยพาณิชย์คือ CK เนื่องจากมีราคาที่ถูกเพียงแค่ 5 เท่าของกำไรต่อหุ้น ขณะที่มูลค่าของเงินลงทุนสูงถึง 5 บาทต่อหุ้น”
มร.โทมัสได้กล่าวทิ้งท้าย จากการที่ท่านได้เข้าร่วมงานกับบล.ไทยพาณิชย์มาเป็นระยะเวลหานึ่งนั้น ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ของ บล.ไทยพาณิชย์ว่า “บล.ไทยพาณิชย์ มีความได้เปรียบเหนือบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆทั้งในด้านของ การวิเคราะห์บริษัทหลายแห่งมาเป็นเวลานาน การจัดทำบทวิเคราะห์ออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นบริษัทหลักทรัพย์ระดับแนวหน้าที่มีความมั่นคงและประสบการณ์สูง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารแม่ และมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับภาคธุรกิจอื่นๆ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ได้มีความพยามยามอย่างหนักที่จะทุ่มเททรัพยากรของบริษัทในการทำการวิเคราะห์วิจัยการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ