สกว. เสนอผลงานวิจัย “เตรียมประเทศไทย รองรับภัยใหม่”

ข่าวทั่วไป Thursday January 18, 2007 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สกว.
สกว. นำผลงานวิจัยเพื่อเตรียมประเทศไทย และรับมือกับภัยใหม่ที่คนไทยไม่ควรมองข้าม ด้านนักวิจัยชี้ควรเร่งสร้างความเข้าใจและต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อมาจัดการ อาทิ การบัญญัติกฎหมาย และปรับปรุงกระบวนการความยุติธรรมให้ทันสมัย
ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง “ เตรียมประเทศไทย รองรับภัยใหม่” ว่า สกว. ได้มีการสนับสนุนงานวิจัยในโครงการความมั่นคงใหม่ โดย รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข และ รศ. ดร. ประธาน วัฒนวาณิชย์ เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยในประเด็นปัญหาความมั่นคงใหม่ ซึ่งมีหลายด้าน เช่น การก่อการร้าย พลังงาน โรคอุบัติใหม่ และภัยธรรมชาติ วัตถุประสงค์ของการวิจัยต้องการให้ประชาชนชาวไทยได้เตรียมความพร้อม สำหรับรับมือกับภัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดการกับภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้ประชาชนได้เข้าใจสถานการณ์ ขณะที่ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกลไกภาครัฐจะมีระบบการจัดการที่ดี ในการตั้งรับ และเตรียมความพร้อมสำหรับภัยใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
“ ภัยใหม่ที่เกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นภัยที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว จำเป็นที่กลไกภาครัฐจะต้องศึกษาประเทศอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์มาแล้วว่า เขามีระบบการจัดการอย่างไร โดยดูตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ เช่น สหภาพยุโรป ประเทศสเปน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์” ศ.ดร.ปิยะวัติ กล่าว
รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข หัวหน้าโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า โลกหลังวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นโลกของความรุนแรงซึ่งปรากฏให้เห็นใน 2 ลักษณะ คือ สงครามก่อการร้าย และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และความรุนแรงจากสงครามใน 2 ลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก ไม่ใช่ในแบบของยุคสงครามเย็น ที่สงครามเกิดขึ้นในพื้นที่ของประเทศกำลัง พัฒนาเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลัง 11 กันยายน ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกถึงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของปัญหายุทธศาสตร์และความมั่นคงที่สำคัญว่า โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของสงครามก่อการร้ายเต็มรูปแล้ว
ดังนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องการก่อการร้าย จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงของทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อการร้ายร่วมสมัยนั้นมีความแตกต่าง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดตั้ง การแสวงหาสมาชิก อุดมการณ์ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และรวมถึงเป้าหมายและแบบแผนการปฏิบัติการในการโจมตี
สำหรับเรื่องของระเบิดที่ปรากฎเป็นข่าว ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองอย่างมากนั้น ปมปัญหาเช่นนี้ส่งสัญญาณเตือนถึงความจำเป็นของการเตรียมตัวของระบบเมืองให้สามารถรองรับกับการก่อการร้าย หรือการก่อวินาศกรรมที่มีความรุนแรง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กลไกภาครัฐจะตระหนักว่า ระบบการบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่จะต้องคำนึงถึงปัญหาของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์
ดังนั้น สงครามใหม่นี้ ผู้ปฏิบัติงานจึงไม่ใช่เรื่องของทหารแบบในสงครามปกติ หากแต่เป็นผู้รักษากฎหมายในส่วนต่างๆ พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย หน่วยแพทย์และพยาบาล ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
รศ. ดร. สุรชาติ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาความเป็นเมือง เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงแล้ว ควรสร้างมาตรการที่สำคัญ เช่น
1. สร้างระบบงานที่สามารถครอบคลุมระบบของเมือง
2. สร้างเมืองให้เข้มแข็ง
3. สร้างระบบคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน
4. สร้างการสื่อสารกับประชาชน
5. สร้างระบบสื่อสารระหว่างหน่วยงาน
6.สร้างการมีส่วนร่วมของการตัดสินใจ
7. สร้างระบบการบริหารงานฉุกเฉินในพื้นที่
ด้านรศ. ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สกว.ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยบทบาทของกระบวนการยุติธรรมในการควบคุมการก่อการร้ายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนากฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายมีความจำเป็นในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ แต่กฎหมายที่มีอยู่ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความผิดและการกระทำอย่างอื่นบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 และอนุสัญญาปราบปรามการก่อการร้ายโดยใช้นิวเคียร์ ค.ศ.2004 ยังไม่สามารถครอบคลุมการกระทำความผิดการก่อการร้ายที่มีพฤติการณ์ รูปแบบ และวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น การใช้อาวุธที่มีอานุภาพสูง ปกปิดและซ่อนเร้นได้ง่ายและยากแก่การตรวจสอบ ค้นพบและจับกุม เช่น วัตถุระเบิดที่เป็นของเหลว หรือวัตถุที่มีกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย การดำเนินคดีผู้ก่อการร้าย ในอดีตที่ผ่านมานอกจากจะมีกฎหมายพิเศษเช่น พระราชบัญญัติป้องกันและการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกฎอัยการศึกแล้ว ได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นหลักในการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับความผิดอาญาทั่วไป การพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือบัญญัติกฎหมายพิเศษตามรูปแบบกฎหมายต่างประเทศ หรือบัญญัติกฎหมายตามแนวทางของสหประชาชาติ (Comprehensive Convention) หรือแบบกฎหมาย (Model Law) อันเป็นรูปแบบกฎหมายของประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth Secretariat) รวมทั้งร่างกฎหมายของสหประชาชาติที่กำหนดความผิดเป็นการทั่วไป สำหรับเป็นแนวทางการบัญญัติกฎหมายของประเทศสมาชิกไว้เป็นแนวทางบัญญัติกฎหมายภายในของตนด้วย เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ไม่มีผลกระทบต่อระบบโลก และโครงสร้างกฎหมายของประเทศ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญมากกว่า ได้แก่ การปรับปรุงระบบงานสอบสวน ฟ้องและพิจารณาคดี โดยเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้ปฏิบัติงานด้านการสืบสวน สอบสวน ฟ้อง และพิจารณาคดีก่อการร้ายให้มีมาตรฐานการปฏิบัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งด้านการบริหารจัดการคดีความผิดประเภทนี้ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อนไม่น้อยเพราะเกี่ยวข้องกับระบบงานยุติธรรม และระบบงานด้านความมั่นคงของรัฐ ที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และอำนาจหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยงานการปรับปรุงกฎหมายในองค์กร และกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับการปรับปรุงระบบงานยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีด้านความมั่นคง และคดีอาญาที่กระทำโดยผู้ก่อการร้าย กลุ่มอาชญากรรม และองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร 0-2439-4600 ต่อ8203
อีเมล์ paricharts@corepeak.com
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
โทร 0-2439-4600 ต่อ 8203, มือถือ 08-1668-9239

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ