กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
จี้มหาวิทยาลัยลงแก้ปมขัดแย้งสังคม เชื่อหากวันนี้กระโดดลงมาร่วมช่วยเหลือ ปัญหาความขัดแย้งของสังคมจะไม่เกิดขึ้น แนะโจทย์ใหญ่ระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ ต้องทำให้เด็กไทยคิดเป็น ส่งเสริมให้คิดนอกกรอบ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายพิเศษ เรื่อง "ระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ" ในเวทีสัมมนาวิชาการ "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสุขภาวะคนไทย : ทำอย่างไรให้สำเร็จ" ณ ห้องประชุมทวี บุณยเกตุ อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.พิสิฐ กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยเวลานี้ คือ เรื่องคุณภาพการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าการศึกษานั้นเรียน เพื่อจุดประสงค์ใด นักเรียนสามารถมีพื้นฐานความคิด สามารถนำความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ คิดต่อยอดพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาไทยสอนด้วยการท่องจำ เรียนเพื่อสอบ ไม่ได้ใช้ประโยชน์นัก ไม่ได้สร้างทักษะพื้นฐานการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ได้ส่งเสริมให้คนไทยคิดนอกกรอบ ซึ่งทำให้เด็กไทยคิดไม่เป็น
“เชื่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัยที่เพียงพอแล้ว และมีมหาวิทยาลัยมากกว่าในอังกฤษด้วยซ้ำ ซึ่งจากนี้ต่อไปควรมุ่งพัฒนาเน้นในเรื่องของคุณภาพการสอนไม่ใช่ปริมาณเนื้อหาอย่างเดียวด้วย วิธีการสอนต่อไปต้องสอนให้คิดอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ต้องทำให้มีมาตรฐานคุณภาพของการศึกษาสูงขึ้น ต้องทำให้เด็กมีความคิดที่อยากจะเรียนในเนื้อหาของวิชานั้นๆ จริงๆ ไม่ใช่เรียนไปเพื่อให้สอบผ่าน เพื่อเอาคะแนนเท่านั้น” ดร.พิสิฐ กล่าว
เมื่อถามถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา ให้ไปสู่ความสำเร็จนั้น คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มช. กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยสามารถพาชาติออกจากวิกฤติได้ โดยควรต้องปรับ 3 สิ่งให้เกิดขึ้นในสังคม ได้แก่ 1.ต้องปรับการเรียนการสอนเน้นในชั้นเรียนให้อภิปรายร่วมกันมากขึ้น (Discussion) ลดการบรรยาย(Lecture) แบบเดิม 2.ต้องเน้นการทำให้ผู้เรียนสัมผัสและเรียนรู้นอกชั้นเรียนด้วยตนเองให้มากขึ้น และ 3.ต้องทำให้ทุกคนมีหัวใจที่เปิดกว้างยอมรับความคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย ที่แตกต่างจากความคิดของตน ไม่ยึดแต่ความคิดของตนว่าต้องดีกว่าคนอื่นเสมอไป
“วันนี้ต้องสร้างการรับฟังอย่างอดทน เห็นได้ชัดจากปัญหาของคนเสื้อหลากสีในขณะนี้ เกิดจากการที่ไม่อดทนจะยอมรับฟังซึ่งกันและกัน”
สำหรับบทบาท ของมหาวิทยาลัยไทยนั้น ดร.พิสิฐ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องแยกแยะให้ออกระหว่างการเป็นสถาบันการศึกษา (Education Institution) กับการเป็นโรงเรียนสอนอบรม (Training school) มหาวิทยาลัยต้องอย่าลืมว่าต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ต้องผลิตบัณฑิตเพื่อสังคม สร้างคนที่ควรจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่น ให้สังคมได้ ไม่ใช่สร้างเด็กที่เรียนจบมาแล้วเห็นแก่ตัว คิดว่าตัวเองเอาตัวรอดได้ แต่ไม่สนใจสังคมก็ใช้ไม่ได้ และวันนี้มหาวิทยาลัยไทยยังคงอยู่บนหอคอยงาช้าง เพราะหากวันนี้มหาวิทยาลัยไทยได้ลงมาร่วมช่วยเหลือสังคมนั้น ปัญหาความขัดแย้งของสังคมตอนนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th