สสส. เดินหน้าโครงการพัฒนาทักษะการบริหารให้อบต.อีสาน หวังเจาะลึกถึงปัญหาด้านสุขภาวะ ผู้แทนอบต.หวังปรับทัศนคติด้านการพัฒนา

ข่าวทั่วไป Wednesday March 24, 2010 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สสส. ทพ.กฤษดา เอื้ออารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับ สสส. ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส จังหวัดนครราชสีมา ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะจะเป็นตัวเชื่อมโยงกับชุมชน ทั้งในการสร้างองค์ความรู้ การประสานงาน รวมถึงการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างการสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชน องค์กรท้องถิ่นอย่าง อบต. จะเป็นตัวประสานงานได้ดี ทางสสส.จึงเห็นว่าการจับมือกับอบต.ภาคอีสานในครั้งนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายและกระจายองค์ความรู้ด้านการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะ อบต.ย่อมมีความใกล้ชิดชุมชน และสามารถเข้าใจปัญหาในระดับลึกได้ดี โครงการพัฒนาทักษะการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรอบต.นี้จึงเข้าไปเสริมให้เกิดการวิเคราะห์และบริการจัดการให้เข้มแข็งขึ้น ทพ.กฤษดา เห็นว่า บทบาทของอบต. จำเป็นที่จะสร้างองค์ความรู้ในระดับชุมชน จากการไปศึกษาองค์กรท้องถิ่นในต่างประเทศ พบว่า บทบาทด้านการศึกษาได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนมากที่สุด องค์กรท้องถิ่นหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะการศึกษาจะเป็นตัวสร้างความรู้ สร้างเครื่องมือในการดำรงชีวิตที่ดีได้ และในหลายประเทศให้ความสำคัญกับการเมืองระดับท้องถิ่น และนำไปสู่การเมืองในระดับประเทศที่เข้มแข็ง “ในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้อบต.ได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องสุขภาวะ โดยเริ่มหันกลับไปมองจากชุมชน แต่ละชุมชนจะมีความแตกต่างกันไป ไม่ใช่แค่เรื่องเหล้า บุหรี่ ออกกำลังกาย แต่จะลงลึกจากปัญหาของแต่ละชุมชน และในปี 2553 นี้สสส.มีแผนงานที่ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผู้จัดการ สสส.กล่าว ด้าน นายชัยภัทร หมั่นกิจ ผู้อำนวยการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่จะให้การสนับสนุนการทำงานขององค์กรท้องถิ่นมีน้อยมาก ส่วน สสส.เอง เพิ่งจะได้ทำงานร่วมกันเมื่อปี 2549 ในสมัยก่อนก็ถือเป็นเรื่องยาก เพราะยังใหม่สำหรับการปรับเปลี่ยนทัศนคติขององค์กรท้องถิ่น เนื่องจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเกี่ยวพันกับการทำงานด้านการเมือง เช่น หากไปรณรงค์เรื่องงดเหล้า หรือบุหรี่ก็จะกระทบต่อการได้รับการเลือกตั้งในสมัยหน้า องค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงไม่เห็นความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนสุขภาวะ “แต่เมื่อผ่านไป หลายคนเริ่มเห็นว่า การให้ความสำคัญกับมิติทางสังคม มิติทางสุขภาพมากขึ้น แสดงว่ามีการพัฒนาในระดับความคิดของคนในชุมชน สิ่งนี้น่าจะยั่งยืนกว่าการพัฒนาท้องถิ่นในระดับโครงสร้างพื้นฐาน” ชัยภัทรกล่าว ด้าน นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบลปี 2553 กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับอบต. โดยมีทีมงานทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงที่คอยให้ความรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้อบต.และชุมชนสามารถกำหนดประเด็นปัญหาการสร้างเสริมสุขภาพในแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน “ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการอบรมเชิงปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ โดยเนื้อหาของการอบรมจะประกอบไปด้วยการทบทวนแนวคิดด้านสุขภาพ การวิเคราะห์ปัญหา การจัดลำดับความสำคัญ ไปจนถึงการเขียนโครงการ และการติดตามประเมินผล ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปใช้กับการพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป” นายสุรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ