กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--เนคเทค
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) เปิดเผยถึงโครงการวิจัยพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ล่าสุด “เครื่องตรวจจับภาพทางแสง (Endoscope) : โครงการเทคโนโลยีกล้องอัจฉริยะทางการแพทย์เพื่อส่องตรวจและถ่ายภาพในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดได้” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)จำนวน 17 ล้านบาท พร้อมคาดหวังผลงานวิจัยพัฒนาชิ้นนี้จะสามารถเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้แต่เนิ่น ๆ โดยจะก่อประโยชน์ให้กับแพทย์และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยในหลายๆด้าน อาทิ ช่วยให้แพทย์เพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจากผลและการสูญเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง , ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในไทยโดยใช้เครื่องตรวจจับที่มีความแม่นยำ เพื่อที่จะค้นหาก้อนเนื้อร้าย และขอบของก้อนเนื้อร้าย , ยกระดับการวิจัยและพัฒนาของแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร ไปสู่ระดับสากล , พัฒนาให้เครื่องมือมีราคาย่อมเยาและสามารถเข้าถึงผู้ป่วยในระดับชุมชนให้ได้รับการรักษา , ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเครื่องมือสามารถที่จะตรวจจับโรคมะเร็งได้ในทันที โดยไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (virtual biopsy) และลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับภาพนี้เพื่อการส่งออกได้
ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ หัวหน้าทีมการวิจัยและพัฒนา“เทคโนโลยีกล้องอัจฉริยะทางการแพทย์เพื่อส่องตรวจและถ่ายภาพในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งในระยะเริ่มต้น” เปิดเผยว่าโครงการวิจัยชิ้นนี้มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการวิจัยทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานโดยใช้นวัตกรรมทางการจับภาพเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคและดูแลรักษาผู้ป่วย โครงการฯนี้จะพัฒนานวัตกรรม ระบบเก็บภาพทางแสงซึ่งจะสามารถตรวจจับ ค้นหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นมาก ๆ เพื่อที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างเดียวและมีโอกาสหายขาดได้ นวัตกรรมการฉายแสงทางภาพนี้จะช่วยค้นหาโรคมะเร็งทางพื้นผิวชั้นบน ซึ่งจะพบมากในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งหมด (85% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย) นอกจากนี้ โครงการนี้จะถูกก่อตั้งเพื่อเป็นศูนย์รวมในการร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และแพทย์ จากหลายสาขา ซึ่งจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อที่จะวิจัยพัฒนาและใช้นวัตกรรมทางระบบการเก็บภาพทางแสง เพื่อใช้ในการศึกษาระบบชีววิทยา ในสภาพธรรมชาติ สำหรับสัตว์ทดลองและมนุษย์ และพร้อมที่จะเปิดรับพันธมิตรการวิจัยเพื่อให้อุปก
รณ์ทางการแพทย์ชิ้นนี้ สามารถใช้งานช่วยเหลือแพทย์ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
ท่านผู้สนใจงานวิจัยและต้องการเป็นพันธมิตรวิจัยผลงานชิ้นนี้ สามารถเข้าชมแนวคิดและพบนักวิจัยได้ที่งานประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2553 (NAC2010) "Science &Technology for our Society and Planet" "วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยีเพื่อสังคมและโลก" วันที่ 29-31 มีนาคม 2553 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ เนคเทค
อรรถกร ศิริสุวรรณ งานประชาสัมพันธ์เนคเทค
02-564-6900 ต่อ 2335