กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สกศ.
รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากผลสรุปในการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง “แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในงานสมัชชาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เมื่อเร็วๆนี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายได้นำเสนอว่าแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต แบ่งได้เป็น 3ประเภท คือ 1.แหล่งเรียนรู้ทั้งที่เป็นสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ศาสนสถาน ฯลฯ 2.แหล่งเรียนรู้ที่เป็นบุคคล เช่น ครูภูมิปัญญา พระ ฯลฯ และ3.แหล่งเรียนรู้ที่เป็นสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ ซีดี ดีวีดี ทีวี ฯลฯ ปรากฏว่า การเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้ ในปัจจุบันไม่ได้สัมพันธ์กัน เนื่องจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของ การเข้าถึง เช่น ราคาในการเข้าชมสูง จำนวนแหล่งเรียนรู้ที่มีน้อย แหล่งเรียนรู้อยู่ห่างไกลฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของประชาชน
“ปัญหาที่สำคัญอีกประการ คือ การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการสร้างแหล่งเรียนรู้มีงบประมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณของกระทรวงที่ได้รับ โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เงินเดือน และการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ”รองศาสตราจารย์ธงทองกล่าว
เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวด้วยว่า ผู้ร่วมอภิปรายเสนอแนะว่าแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ควรมุ่งที่จะให้ความสำคัญในเรื่องการดำรงชีวิต โดยส่งเสริมความรู้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และควรมีแผนการพัฒนาความรู้ของคนในชุมชน ซึ่งจะต้องพิจารณาจากความต้องการของชุมชนนั้นๆเป็นหลัก ทั้งนี้ควรให้องค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแผนดังกล่าว นอกจากนี้ ควรให้ กศน. ตลอดจนทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ให้ กศน. เป็นเจ้าภาพหลักและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย