กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 28 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในช่วงวันที่ 25-28 มีนาคม 2553 ส่วน 8 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยให้เตรียมการรับมือพายุฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 26-28 มีนาคม 2553
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ช่วงวันที่ 25-28 มีนาคม 2553 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้พื้นที่ 31 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร หนองบัวลำภู เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีสภาพอากาศแปรปรวน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 26-28 มีนาคม 2553 ส่งผลให้พื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสมีคลื่นลมแรง และห่างฝั่งบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูง สำหรับจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ซึ่งอาจทำให้อาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากพายุลมแรง พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบป้ายโฆษณาและสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง หากพบว่าไม่ปลอดภัยหรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรง เพื่อป้องกันการโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ทั้งนี้หากมีประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อนหรือลูกเห็บตกให้เก็บสิ่งของที่สามารถปลิวไปตามลมได้ในที่มิดชิด รวมถึงเกษตรกรควรจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัยไว้ให้สัตว์เลี้ยง และจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังผลิดอกออกผล เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือคลื่นลมแรงในภาคใต้ ปภ.ได้ประสานให้จังหวัด 8 ภาคใต้และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีเขต 12 สงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดำเนินการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรงที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและรายงานสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯทราบเพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัดและอำเภอ ส่วนคลื่นลมบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง และชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ สุดท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และคลื่นลมแรง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมปภ.