กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กระทรวงพลังงาน
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเปิดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Solar Business Bangkok 2010” ว่า ความมั่นคงทางด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของทุกประเทศ ผนวกกับภัยคุกคามอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจกับการดำรงชีวิตและการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสาเหตุของปัญหาก็คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล และก๊าซมีเทนจากของเสียและการย่อยสลาย ดังนั้น ในแผนพลังงานทดแทน 15 ปี กระทรวงพลังงาน จึงได้ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 20 ของความต้องการพลังงานขั้นต้น ภายในปี 2565 และหากบรรลุเป้าหมายนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงในด้านพลังงานให้กับประเทศไทยโดยการลดการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ ปีละไม่ต่ำกว่า 460,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 42 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ ในแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ยังได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ พัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญเพื่อส่งเสริมตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้เชื่อมั่นว่าการสร้างตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาคมโลกอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
“การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2546 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดประมาณ 500 กิโลวัตต์ ณ อำเภอผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีการลงทุนที่สูง และยังจำกัดอยู่เพียงหน่วยงานของรัฐ ทำให้องค์ความรู้ต่างๆ จำกัดอยู่เฉพาะบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ กว่า 20 ท่าน อาทิ Dr. Arnulf J?ger-Waldau จากสหภาพยุโรป เจ้าของผลงาน PV Status Report 2009, Mr. Gerhard Stryi-Hipp ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชื่อดังด้านพลังงานแสงอาทิตย์ Fraunhofer ประเทศเยอรมนี, Mr. Sunil Gupta ผู้บริหารจากสถาบันการเงินชื่อดัง Morgan Stanley
และผู้แทนจาก World Bank Group เป็นต้น มาร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งทางด้านเทคนิค การเงินและ การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์และการกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งกระบวนการอย่างเต็มที่ จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และเพื่อให้นานาชาติได้เห็นความตั้งใจในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ภายในเดือนเมษายน 2553 ทุกคนจะได้เห็นทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 6.1 เมกะวัตต์ ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอีก 1 — 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 73 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งการผลักดันโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดย สนพ. ได้จัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้กับมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) โดยร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ Solar Power Company Limited, Trina Solar Limited, และธนาคารกสิกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tokyo Electron Company Limited เจ้าของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Thin Film ให้การสนับสนุนการจัดงาน Solar Business Bangkok 2010 ภายใต้หัวข้อ “PV Solar Energy: Getting Down to Business” เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านเทคนิค ด้านการเงินและการลงทุน และเป็นเวทีให้นักลงทุนได้พบปะกับเจ้าของเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย ให้มีโอกาสถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายได้มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาโลกร้อนด้วย
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้ออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ได้แก่ มาตรการกำหนด “ส่วนเพิ่ม” ราคาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล (Adder) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากขึ้นจากเดิมที่มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 7.7 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าภายใต้ระเบียบ SPP และ VSPP กว่า 200 ราย มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบมากกว่า 800 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี หรือในปี 2565 จำนวน 500 เมกะวัตต์