กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
สศอ.เผยภาคอุตฯวิ่งเป็นกระทิง ยอดผลิตส่งออกคึกคักถ้วนหน้า กลุ่มยานยนต์ผลิตเพิ่มเฉียด 100% ขณะที่ Hard disk drive—เหล็ก-แปรรูปสัตว์น้ำ ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นชัดเจน ส่วนกำลังการผลิตอยู่ในระดับ 60.6%
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(ดัชนีอุตฯ) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.1% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนถือเป็นการฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก 4 เดือนติดต่อกัน (พ.ย-ม.ค. 2552 เพิ่มขึ้น 7.5%,30.7%และ 29.1% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นไปตามทิศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมหลักมียอดผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยอดการผลิตพุ่งสูงถึง 97.4% นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่มียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มสูง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิต Hard Disk Drive เหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น 97.4%และ 78.2% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตร ทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยอดผลิตที่เพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของรถยนต์หลายรุ่นรวมถึงในโครงการอีโคคาร์ ซึ่งผู้ผลิตมีการโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดในการเปิดตัวจึงส่งผลต่อการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ขณะเดียวกันตลาดการส่งออกขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้จะมียอดการผลิต ทั้งตลาดรถปิ๊คอัพและตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ได้ถึง 1,400,000 คัน ซึ่งขยายตัวกว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
ในส่วนของ Hard disk drive การผลิตและจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 49% และ 44.7% ตามลำดับ เนื่องจากเมื่อปีก่อนเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จึงมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีภาวะการผลิตและจำหน่ายสูงขึ้นอย่างมาก โดยแนวโน้มของปี 2553 คาดว่ายอดการผลิตและจำหน่าย จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกให้ความเชื่อมั่น
ขณะที่ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ปรับตัวเพิ่มขึ้น 66.5%และ 44.2% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเทศ โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งที่เน้นการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
และ การแปรรูปสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.4% และ 22.8% ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามตลาดต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว โดยผู้นำเข้ารายใหญ่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่น เริ่มส่งคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น โดยสินค้าที่สำคัญในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย กุ้งแช่แข็ง การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 49.4% และ 44.3% ตามลำดับ ขณะที่ปลาทูน่ากระป๋อง มียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่นกัน คือ 3.5%และ 3.2% ตามลำดับ
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 183.31 เพิ่มขึ้น 31.1% จากระดับ 139.79 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 180.78 เพิ่มขึ้น 29.5% จากระดับ 139.57 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 117.09 เพิ่มขึ้น 9.0% จากระดับ 107.44 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 142.10 เพิ่มขึ้น 15.3% จากระดับ 123.27 ขณะที่ ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 183.21 ลดลง 8.0% จากระดับ 199.07 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.6%
นอกจากนี้ นางสุทธินีย์ ยังได้กล่าวอีกว่า สัญญาณบวกของการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.ประจำเดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 104.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า 0.7 จุด และขยายตัว 6.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวขององค์ประกอบภายในของดัชนีชี้นำ ซึ่งได้แก่ มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีชี้นำที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น