ชีวิตปลอดภัย…..ด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday February 22, 2007 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--
เป็นที่รู้กันดีว่า “ฟลูออไรด์” เป็นสารที่เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดโดยส่วนใหญ่ใช้เป็นคุณสมบัติหลักในการโฆษณาสรรพคุณ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะมีใครสักกี่คนที่รู้จักถึงคุณสมบัติของ “ฟลูออไรด์” ตลอดจนผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากบริโภค “ฟลูออไรด์” มากเกินไป
ฟลูออไรด์คืออะไร
ฟลูออไรด์เป็นสารประกอบของธาตุฟลูออรีน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั้งในน้ำ ดิน เนื้อสัตว์ และพืช ในร่างกายมนุษย์จะพบในกระดูกฟันและของเหลวทั่วร่างกาย ซึ่งมนุษย์เราสามารถที่จะเลือกบริโภคฟลูออไรด์ได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ 1. บริโภคจากอาหารทางธรรมชาติ 2. บริโภคโดยการใช้เฉพาะที่ ด้วยการใช้ฟลูออไรด์สัมผัสกับฟันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น การแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ การเคลือบ การขัดฟันด้วยฟลูออไรด์ อาทิ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และ 3. บริโภคโดยการกลืนกินยา “ฟลูออไรด์” โดยการเติมฟลูออไรด์ลงไปในน้ำหรืออาหารเพื่อให้เด็กรับประทานเพื่อให้ฟลูออไรด์เข้าไปอยู่ในฟันในขณะที่ฟันกำลังมีการเจริญเติบโต
ทั้งนี้ รูปแบบของการให้สาร “ฟลูออไรด์” เสริมในรูปของยาฟลูออไรด์นั้น จะพบเห็นในการใช้ในเด็ก ตั้งแต่อายุ 6 เดือน — 16 ปี เนื่องจากมีการสร้างหน่อฟันน้ำนมและหน่อฟันแท้ ซึ่งขนาดของฟลูออไรด์เสริมที่ใช้ จะขึ้นอยู่กับปริมาณของฟลูออไรด์ในน้ำดื่มและอายุของเด็ก ส่วนฟลูออไรด์ที่ใช้ในระบบเฉพาะที่ ได้แก่ ยาสีฟันฟลูออไรด์ จะเห็นได้ทั้งการใช้ในเด็กและผู้ใหญ่
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผลิตภัณฑ์ใดมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ หรือที่มีส่วนผสมของสารเคมีสำหรับการใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟัน จะมีคำเตือนที่ระบุไว้อย่างชัดเจนข้างกล่อง เช่น ยาสีฟันจะมีคำเตือนระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่ควรกลืนหรือกินยาสีฟัน และควรกลั้วปากให้ทั่วหลังการแปรงฟัน ขณะใช้ควรมีผู้ใหญ่ดูแล และใช้ยาสีฟันในปริมาณที่พอเหมาะ หรือเมื่อพบทันตแพทย์จะแนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ควรใช้ยาสีฟันในขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น เนื่องจากเด็กยังควบคุมการกลืนได้ไม่ดี ถ้าใช้ยาสีฟันในปริมาณมากเกินไป เด็กอาจจะกลืนยาสีฟันลงไป อาจทำให้เกิดเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีของเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีความเข้มข้นต่ำ 500 ppm. ซึ่งสังเกตได้จากฉลากบนกล่องยาสีฟัน และเมื่อเด็กอายุ 6 ปี สามารถใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ได้ตามมาตรฐานคือ 1,000 — 1,100 ppm หากใช้ในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย (ข้อมูลการบริโภค อ้างอิงมาจาก เว็บไซต์ทันตแพทย์สภา http://www.dentalcouncil.or.th/docter/cpg4.htm )
พิษหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคฟลูออไรด์เกินขนาด
จะเห็นได้ว่า ในทุกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์นั้น จะต้องมีข้อกำหนดในการบริโภค โดยในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีส่วนผสมฟลูออไรด์นั้น จะต้องใส่สารฟลูออไรด์ เป็นส่วนผสม 0.11 % หรือ 1100 ppm เมื่อคำนวณในรูปของ Active Fluoride Ion ซึ่งระบุไว้ในประเภทของสารควบคุมพิเศษ ตามประกาศกระทรวงฉบับที่ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 (อ้างอิงมาจาก ข้อมูลสารควบคุมพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/cosmetic/cosmetic/dat/sc.html#sc8 )
ในต่างประเทศได้มีการกล่าวถึง การเกิดพิษของฟลูออไรด์ โดยแบ่งได้เป็น การเกิดพิษอย่างเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดในครั้งเดียว อาจด้วยความเข้าใจผิดหรือพลั้งเผลอซึ่งจะมีอาการรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับเข้าไป โดยจะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย วิธีการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นด้วยการให้ดื่มนมมากๆแล้วนำส่งแพทย์ทันที หากสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นพิษจากฟลูออไรด์หรือไม่ ให้เก็บปัสสาวะผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงแล้วส่งตรวจระดับฟลูออไรด์ในปัสสาวะ นอกจากนี้ยังอาจ เกิดพิษชนิดเรื้อรัง เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน อาการที่บ่งชี้ ได้แก่ ฟันตกกระ มีการปวดข้อมือข้อเท้าหากเป็นมากจะรุกลามไปยังกระดูกสันหลังจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้หายใจลำบากและตายในที่สุด สำหรับในประเทศไทยนั้น อาการดังกล่าวมักพบในผู้ที่ดื่มน้ำบาดาลในภาคเหนือ ซึ่งมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ตามธรรมชาติตามปกติ เช่น อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ , อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลมาจาก บทความวิทยุกระจายเสียงรายการสาระยามบ่าย ครั้งที่ 37กระจายเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจําเดือน พฤศจิกายน 2546 เวลา 16.30 — 17.00 น.เรื่อง ฟลูออไรด์ดีกับฟันจริงหรือ? เรียบเรียงโดยนางอังสนา ฉั่วสุวรรณ นักวิทยาศาสตร์ 6ว สํานักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ)
นอกจากนี้ ในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีการใช้สารฟลูออไรด์ ยังได้รับผลกระทบจาก ฟลูออโรซิส ทั้ง Dental Fluorosis, Skeletal Fluorosis และ Systemic Fluorosis ในวงกว้าง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://fluoridealert.org/dental-fluorosis.htm , http://www.med.uwo.ca/ecosystemhealth/education/casestudies/fluorosismed.htm
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีสิทธิ์ที่จะเลือกบริโภคสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์และพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตจำต้องแจงให้ผู้บริโภคทราบ โดยเฉพาะย่างยิ่งสารควบคุมพิเศษอันก่อให้เกิดพิษและโทษต่อร่างกาย หากได้รับการบริโภคมากเกินขนาดที่กำหนด
ดูแลสุขภาพฟันด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ แต่ผู้บริโภคหลายคนอาจกังวลว่า ตนเองจะมีวิธีการดูแลรักษาฟันอย่างถูกวิธีได้อย่างไร สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับฟลูออไรด์ในสัตว์บางชนิด เช่น ไก่ เวลาที่กินอาหารจะเห็นไก่จิกก้อนกรวดกิน เนื่องจากก้อนหินเป็นแหล่งกำเนิดที่ดีของฟลูออไรด์ตามธรรมชาติ ซึ่งแร่ชนิดนี้เป็นตัวสำคัญให้ไข่มีสีแดง เปลือกสีสวยและคุณค่าอาหารครบถ้วน
ดังนั้น หากผู้บริโภคเริ่มต้นดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างง่าย ด้วยการเลือกรับประทานผัก ผลไม้ตามธรรมชาติที่มีเกลือแร่ชนิดนี้อุดมสมบูรณ์ เช่น อาหารทะเลต่างๆ พวกปลาทะเลบางชนิดที่มีกระดูกอ่อน กินได้ทั้งตัวอย่างปลาไส้ตัน ปลาดาบเงิน ในพืชผักผลไม้ อย่าง ใบกุยช่าย ตั้งโอ๋ ถั่วงอก สะระแหน่ มะเขือยาว ใบเมี่ยง พริก บีทรูท กระเทียม กะหล่ำปลี ผักโขม ไข่แดง ข้าวต่างๆ แอปเปิ้ล องุ่น ลูกแพร์ กล้วย เชอรี่ แครอท ผักใบเขียว มันฝรั่ง และอาหารตามธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ที่เปี่ยมไปด้วยประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ทั้งสุขภาพฟัน และสุขภาพร่างกายแข็งแรงไปควบคู่กัน
ดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถอวดยิ้มสดใสได้อย่างไม่ต้องอายใคร...

แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ