ระดมสมอง จัดทำแผนที่นำทาง“Roadmap Technology” พัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday June 21, 2007 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--iTAP
iTAP — สศอ. จับมือภาคเอกชน ระดมสมอง จัดทำแผนที่นำทางหรือ “Roadmap Technology” พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าการนำเม็ดพลาสติกมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด ระบุอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการผลิตวัตถุดิบป้อนภาคการผลิตหลักของประเทศ อาทิ ถุงบรรจุอาหาร , ชิ้นส่วนรถยนต์ , อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนต้นน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบเม็ดพลาสติก แปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก ไปจนถึงผู้ผลิตแม่พิมพ์ ( Mold ) เพื่อป้อนทุกภาคการผลิต โดยมีมูลค่าตลาดรวมทั้งสิ้นกว่า 6 แสนล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง จีน และเวียดนาม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาความสามารถของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของการตลาด , บุคลากร , เทคโนโลยี และต้นทุนต่างๆ ซึ่งหากมีการวางแผนการบริหารจัดการที่ดีแล้ว เชื่อว่า จะทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกของไทยเติบโตได้ดีขึ้นจากสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้
นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลาสติกเป็น 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทาง iTAP มุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ประกอบกับอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีวัตถุดิบพร้อมอยู่แล้วในประเทศ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) , สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) , กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จึงได้จัดคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศทั้งสายอุตสาหกรรม และสร้างระบบการพัฒนาคลัสเตอร์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความช่วยเหลือต่อกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกนั้น ผอ.โครงการ iTAP (สวทช.) กล่าวว่า “โครงการiTAPจะเน้นให้ความช่วยเหลือโดยดูจากโจทย์หรือความต้องการของภาคเอกชนเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี จากนั้น iTAP จะเสนอทางเลือกและพยายามเชื่อมโยงแหล่งของเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงจากสถาบันวิจัยต่างๆ พร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเป็นรายบริษัท นอกจากความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแล้ว ยังให้การสนับสนุนทางด้านเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายถึงร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ ปัจจุบัน iTAP มีเครือข่าย 9 แห่งที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ”
นายนัฐ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับว่า อุตสาหกรรมพลาสติกไทยขณะนี้น่าเป็นห่วง เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเม็ดพลาสติกได้เอง แต่ยังขาดความรู้ในการสร้างสรรค์การผลิตและการแปรรูปวัตถุดิบที่นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกหันมาให้ความใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากการออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแพคเกจจิ้ง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือ ชิ้นส่วนพลาสติกทดแทนเหล็กในอุตสาหกรรมยานยนต์
“ เรื่องดังกล่าวไม่อยากให้มองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า แต่อยากให้มองว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานในอนาคต และผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก การผลิตตามออร์เดอร์ส่งตลาดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หากเรายังไม่เร่งพัฒนายกระดับตัวเองก็จะสู้คู่แข่งอย่างจีน และเวียดนามไม่ได้ ต่อไปจะลำบาก”
การจัดทำแผนที่นำทางหรือRoadmap Technology สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยครั้งนี้ เพื่อร่วมกันมองถึงความต้องการและแนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติก ทั้งเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก พร้อมกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งงานวิจัยที่เหมาะสม โดยจัดทำเป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก กำหนดระยะเวลา 5 — 10 ปี ซึ่งจะมีการระดมความเห็นร่วมกัน 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 คาดว่า ในการประชุมที่เหลือ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนครอบคลุมทุกภาคส่วนการผลิต จากนั้นจะนำผลที่ได้ไปผลักดันในส่วนของนโยบายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบต่อไป
นายนัฐ กล่าวอีกว่า “ การจัดงานดังกล่าว ยังเป็นความร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง สศอ. ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กับโครงการ iTAP (สวทช.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต่างเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีแนวคิดในสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสดีที่ 2 หน่วยงานได้มาร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ เนื่องจาก สศอ. เป็นหน่วยงานที่มีกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการพัฒนาตนเอง ขณะที่โครงการ iTAP (สวทช.) มีองค์ความรู้ และมีผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้ ”
ด้านนายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมพลาสติกในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2549 ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของประเทศ พบว่า อุตสาหกรรมพลาสติกมีการเติบโตต่ำสุด โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8 ลดลงจากปี2548 ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 20 และคาดว่า จนถึงสิ้นปี 2550 นี้ อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกจะลดลงอีกเหลือเพียงร้อยละ 0 — ร้อยละ 3 ในแง่ของการส่งออก ขณะที่ในประเทศยังคงทรงตัว สาเหตุหลักมาจากปัจจัยค่าเงินบาท หลักเกณฑ์ทางการค้า อาทิ ข้อตกลงทางการค้า และมาตรการการกีดกันทางการค้าต่างๆ โดยในปีนี้จะเห็นผลจากมาตรการที่ออกมาบังคับใช้ชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้น หากยังไม่มีการกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. การเปลี่ยนแปลงไปของตลาด โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีนโยบายลดการใช้แพคเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติกที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม 2. ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง และ 3. Free Trade Agreement หรือการทำข้อตกลงการค้าต่างๆ จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวและยกระดับความสามารถในการผลิตของตนเองเพิ่มมากขึ้นทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต เครื่องจักร เทคโนโลยี และบุคลากร
“ สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ต้องการมากที่สุด คือ ให้มีการผลิตวัตถุดิบใหม่ๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ขณะเดียวกันให้ได้ผลผลิต ( out put ) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องการเรื่องของระบบการจัดการที่ทันสมัย เพื่อนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการของเอสเอ็มอีซึ่งยังล้าหลังมาก เนื่องจากเอสเอ็มอีของไทยยังไม่ค่อยเปิดตัว เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ จึงอยากให้การทำเวิร์คชอปครั้งนี้ กำหนดกลยุทธ์ที่จะดึงหรือโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้เข้ามาร่วมรับรู้ และยอมปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของตลาดโลก” นายสมศักดิ์ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 115
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ