สวทช.ชี้ทางผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ แนะหลากกลยุทธ์ลดต้นทุนการผลิตอย่างเห็นผล

ข่าวเทคโนโลยี Monday April 2, 2007 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--สวทช.
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
สวทช.เชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ติวเข้มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ โดยแนะแนวทางในการเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุนการผลิตอย่างเห็นผล ทั้งการใช้เครื่องจักรอย่างชาญฉลาด การเลือกใช้แหล่งพลังงานความร้อน และเทคนิคการออกแบบ ระบุทุกกรรมวิธีล้วนมีผลช่วยลดต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น ช่วยประหยัดทั้งเม็ดเงิน พลังงาน อย่างเห็นได้ชัดเจน
ในปัจจุบันคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมไม้นั้น ผู้ประกอบการรายใดที่สามารถทำให้ต้นทุนต่ำ และสินค้ามีคุณภาพดี ก็จะสามารถอยู่รอดได้ในธุรกิจนี้
การลดต้นทุนในอุตสาหกรรมไม้นั้นสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนการแปรรูปไม้ การเลือกใช้แหล่งพลังงานความร้อนเพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานสำหรับการอบไม้ การเลือกใช้วัตถุดิบให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมไปถึงเทคนิคการออกแบบเพื่อการลดต้นทุน ดังนั้น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมไม้” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเกี่ยวกับแนวทางในการลดต้นทุนสำหรับการผลิตที่ได้ผลโดยใช้เทคโนโลยีและเทคนิคการผลิตที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ให้มีคุณภาพ และใช้ไม้ได้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผศ.อำไพ เปี่ยมอรุณ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนการแปรรูปไม้ และการเลือกใช้แหล่งพลังงานความร้อนเพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานสำหรับการอบไม้ว่า ปัจจุบันเราต้องแข่งขันในเรื่องการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนามที่ส่งออกในราคาค่อนข้างถูกทั้งที่ใช้วัสดุเหมือนกัน ทำให้เราต้องหาวิธีการเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับเขาได้ การแปรรูปไม้เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งเรานิยมใช้เลื่อยสายพานเป็นส่วนใหญ่ แต่เปอร์เซ็นต์ผลผลิตของเนื้อไม้ที่ได้ออกมากไม่สูงนัก เพราะขาดการบำรุงและเป็นการเผื่อเพื่อขายอย่างเดียว การเลื่อยไม้นั้นเราจะต้องคัดแยกขนาดไม้ เลือกชนิดของเลื่อยให้เหมาะสมกับงาน ใช้ให้ถูกวิธี เวลาเปิดหน้าไม้ถือว่าสำคัญที่สุด มีเทคนิคหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้ ทั้งการคำนวณล่วงหน้าเพื่อให้งานที่ออกมาตรงตามความต้องการ รวมถึงพลังงานมอเตอร์ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับการใช้งาน ขนาดและจำนวนของไม้ไม่มากหรือน้อยเกินไป จุดนี้จะช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าได้มาก ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือควรเฉลี่ยการเปิดเครื่องจักรเลื่อยไม้ในแต่ละวันโดยห้ามเปิดพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด เพราะจะเปลืองกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังต้องมีความพิถีพิถันในการป้อนไม้อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมาคุณภาพดี
ส่วนการเลือกใช้แหล่งพลังงานความร้อนเพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานสำหรับการอบไม้นั้นผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การลดพลังงานที่ง่ายที่สุดคือไม่ทำให้ห้องอบมีความชื้นมากเกินไปหรือเมื่อเกิดความชื้นขึ้นในห้องอบต้องมีเครื่องจับสัญญาณความชื้นแจ้งเตือน ถ้าปฏิบัติอย่างถูกวิธีจะช่วยประหยัดทั้งพลังงานและลดค่ากระแสไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อาทิ การออกแบบหัวเตาเผาให้เกิดการไหลเวียนของความร้อนที่ดีเข้าถึงเนื้อไม้ทุกชั้น หรือการเผาเศษไม้ ปลายไม้ ในห้องอบจะช่วยให้ความร้อนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิง หรือการแลกเปลี่ยนความร้อนที่เราเคยปล่อยทิ้งไปให้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งการใช้แหล่งความร้อนที่ได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยผ่านแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์
“ปัจจุบันแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเศษเหลือจากการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย กะลา ฟางนั้นเป็นแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาใช้ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่มาจากไม้ เนื่องจากไม้ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานน้อยที่สุด ดังนั้นไม้จึงยังคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการนำมาใช้ประโยชน์อีกหลายอย่าง” ผศ.อำไพ กล่าวในที่สุด
ด้าน อ.พิศุทธุ์ ศิริพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเทคนิคการออกแบบเพื่อการลดต้นทุนว่า การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหน้าที่โดยตรงของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งความพยายามในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หลายชนิด เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าบางครั้งการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการโดยตรงในปัจจุบันของผู้บริโภคก็ตาม
“การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เราจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะและความสลับซับซ้อนของสิ่งๆ นั้น เริ่มตั้งแต่ระยะเวลาการคิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์นั้นอาจจะใช้ระยะเวลานานหรือสั้นขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบและผลิตเครื่องบิน อาจจะใช้ระยะเวลานาน 10-15 ปี รถยนต์ 1-2 ปี หรือแฟชั่นเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายอาจจะใช้ระยะเวลาเพียง 2-4 สัปดาห์เท่านั้น หรือบางครั้งแบบที่ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้าเกิดล้าสมัยก่อนการผลิตเนื่องจากเกิดไอเดียใหม่ที่ดีกว่าเดิม”
ส่วนปัญหาสำคัญในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์คือ การกำหนดความสมดุลระหว่างการให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งของที่สนองความต้องการของเขาทุกประการ หรือการเสนอผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าผู้ใช้ควรจะใช้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นหากมีคู่แข่งขันในตลาด จำเป็นจะต้องยึดถือความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมานั้นในตลาดยังมีการแข่งขันน้อย การออกแบบหรือผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันจะขายได้ดีแต่เป็นลักษณะบังคับผู้บริโภคเสียมากกว่า ขณะที่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภคทุกประการก็อาจเกิดปัญหาในการผลิตผลิตภัณฑ์หลายชนิด ซึ่งแตกต่างกันมากน้อยตามความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภค การลงทุนในการผลิตจะสูงตามไปด้วย แต่หากไม่คำนึงถึงผู้บริโภคเลยและผลิตผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ง่ายขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือผู้บริโภคอาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นก็ได้หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ดังนั้นในการปฏิบัติส่วนมากจะต้องพิจารณาความสมดุลระหว่างกรณีทั้งสองนี้ โดยการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะซึ่งทำให้เกิดผลดีที่สุดนั่นเอง
สำหรับผู้ที่สนใจและมีความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนด้านข้อมูลหรือคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อได้ที่ : คุณชนากานต์ และคุณวลัยรัตน์ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1381 และ 1368
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 115
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ