กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ทางออกของระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤต เป็นประเด็นเพิ่งถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้แม้ภาพยังพร่ามัว ยังไม่เห็นแนวทางที่ลงตัว ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม วันนี้ถอดหมวกนักการเมือง และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินฝีมือฉกาจ หยิบหมวกอีกใบมาสวม ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สละเวลามาพูดคุยเพื่อช่วยกันตอบโจทย์ “ระบบการศึกษาไทย” จะนำพาประเทศออกจากปัญหาต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง
เริ่มต้นมองปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทย ดร.พิสิฐ ชี้จุดไปที่เรื่อง "คุณภาพการเรียนการสอน" โดยตั้งคำถามให้ครุ่นคิดว่า นักศึกษาของเราจบมาแล้วได้คุณภาพตามที่เราประสงค์หรือไม่ โดยไม่ต้องพูดถึงปริมาณที่มีพอแล้ว นับจำนวนมหาวิทยาลัยในไทยมีมากกว่าประเทศอังกฤษ และมากกว่าในอีกหลายๆ ประเทศ
“จุดใหญ่ คือ เมื่อเด็กมาเรียนแล้ว การเรียนมีคุณภาพดีพอแล้วหรือไม่ วิธีการเรียนการสอนนั้นสอดคล้องและนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ที่เห็นชัด วันนี้เด็กไทยมีค่านิยม มองอะไรที่ฉาบฉวย มุ่งเรียนเพื่อที่จะสอบให้ผ่านเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ให้ได้ โดยเลือกเรียนวิชาง่ายๆ เพื่อให้มีคะแนนเกียรตินิยมที่ดีๆ จะได้หางานทำได้ง่าย”
ถึงเวลาส่งเสริมเด็กคิด นอกกรอบ —คิดแบบแผลงๆ
“เราไม่ค่อยให้ความสำคัญของการสร้างพื้นฐานการคิดเท่าที่ควรเรามักถูกสอนให้ท่องจำมาตั้งแต่เด็ก การเรียนโดยการท่องจำ เช่น เด็กต้องท่องจำสูตรต่างๆ เยอะมาก เวลาผ่านไปก็ไม่ได้ใช้ เมื่อไม่ได้ใช้สูตรเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ แค่เพียงให้เราได้จำและทำข้อสอบ สอบเสร็จก็ลืม ทิ้งไปเลย” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มช. สะท้อนรากลึกถึงแก่นของปัญหา พร้อมกับยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ
สูตรพื้นที่วงกลมที่ถามทุกคนก็จำได้ว่า คือ ?r2 ซึ่งเป็นสูตรเดียวที่จำกันได้ ถ้าเป็นสูตรกลศาสตร์ต่างๆ ก็จำไม่ได้ ถามต่อไปว่าเมื่อจำสูตรนี้ได้แล้วนั้น ได้เรียนรู้ที่มาของสูตรนี้หรือไม่ รู้หรือไม่ว่า คนกรีก คิดสูตรนี้มาสองพันปีแล้ว แล้วเราคิดสูตรนี้เป็นหรือไม่ ที่มาสูตรเหล่านี้ เชื่อว่า ไม่มีใครตอบได้ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ถูกสอนให้คิด แต่ถูกสอนให้จำ จำเพื่อไปทำข้อสอบ เรามุ่งแข่งขันกัน ตะเกียกตะกายสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ ให้จำสิ่งต่างๆมากมาย แต่เราไม่เคยสอนสนับสนุน หรือส่งเสริมให้คนได้คิดนอกกรอบ หรือคิดแบบแผลงๆ
“หากวันนี้เราไม่สร้างพื้นฐานทางการคิดให้เด็ก ต่อไปน่าห่วงว่า ถ้าเด็กไม่รู้จักคิด หรือมีการพัฒนาต่อยอดแล้วในอนาคตเราจะมีอะไรรองรับเหตุการณ์กระแสโลกในวัน ข้างหน้าได้ ป่วยการที่เราจะมีเด็กจบเกียรตินิยมเยอะ เป็นแชมป์โอลิมปิกวิชาการได้เหรียญทองมากมาย แต่คิดนำความรู้ไปใช้ต่อยอดไม่เป็น การเรียนต้องสอนให้คิด นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เพียงท่องจำ นำไปสอบ ฉะนั้นเมื่อถูกสอนให้จำสมองของเราก็จะคิดได้แค่นี้”
“เซอร์ ไอแซก นิวตัน ที่ผ่านมาถูกสอนยัดเยียดให้จำด้วยไม้เรียว หรือด้วยการบ้านต่างๆ จริงอยู่ที่การเรียนต้องมีการฝึกฝน ต้องเคี่ยวเข็ญอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อให้เด็กมีสมาธิไม่มัวแต่เล่น แต่ว่าวิธีการเรียนของเรามักจะบังคับให้เด็กต้องนั่งตัวตรง ห้ามพูดคุย ต้องฟัง ต้องจด ต้องจำ แล้วเมื่อใครทำข้อสอบได้คะแนนเต็มก็เป็นคนเก่ง ซึ่งต้องถามต่อว่าคนเก่งนี้คิดต่อยอด นำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยหรือไม่”
ในฐานะด็อกเตอร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จบจากเนเธอร์แลนด์ ดร.พิสิฐ เสนอวิธีการสอนต่อจากนี้ไป ต้องสอนให้คิดมากกว่า คิดอย่างเป็นขั้นตอน คิดอย่างเป็นระบบ ต้องรู้จักคิดเหมือนเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ที่คิดว่า ทำไมแอปเปิ้ลต้องหล่นมาจากฟ้า จึงเกิดเป็นที่มาของความคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ขยายมาสู่แนวคิดด้านกลศาสตร์
คิดเป็น ทำเป็น นำไปต่อยอด
วกกลับ มาที่คำถาม เราจะทำอย่างไรให้คุณภาพของการศึกษาสูงขึ้น ทำอย่างไรจะให้เด็กมีความคิดที่อยากจะเรียนในเนื้อหาของวิชานั้นๆ จริงๆ ไม่ใช่เรียนไปเพื่อให้สอบผ่าน เพื่อเอาคะแนน ในเรื่องนี้ ดร.พิสิฐ ให้ทัศนะเพิ่มเติม ระบบการศึกษาไทย วางกรอบวิธีคิดตั้งแต่ระดับบนลงมา จึงไม่ใช่เป็นปัญหาของเด็กคนเดียว แต่เป็นปัญหาของผู้สอน ครูอาจารย์ ผู้จัดการศึกษา
“ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องมานั่งคุยกัน คนสอนหรือคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงนี้ กลับมาถามตัวเองก่อนว่า สิ่งที่สอนไปนั้นมีประโยชน์หรือไม่ เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาหรือไม่จากการสอนแบบนั้นๆ เด็กจะนำสิ่งที่สอนไปทำประโยชน์อะไรได้หรือไม่ คนสอนต้องคิดก่อนว่าแม้การสอนจะถูกบีบโดยตำรา หรือโดยหลักสูตรก็ตาม ที่บังคับให้ต้องสอนมาจำนวนเท่านั้นเท่านี้ (จริงๆ แล้วหลักสูตรควรเปิดช่องให้อาจารย์ผู้สอนสามารถพลิกแพลงการสอนได้) เราต้องปรับเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนให้เด็กสามารถคิดเป็น ทำเป็น สามารถต่อยอดความคิดได้ สามารถพัฒนาได้ ใครก็ตามที่มีความคิดแผลง แหวกแนวต้องส่งเสริม ไม่ใช่ไปกดดันคนๆ นั้น ต้องไม่ไปบีบหรือตีกรอบจนเกินไป
สังคมมีปัญหาเช่นทุกวันนี้ เกิดความเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรจะเชื่อ เห็นต้นไม้แปลกประหลาดก็ไปขูดเลข เห็นสัตว์มีสี่ขา แปดขาก็ไปกราบไหว้บูชา เพราะไม่มีพื้นฐานของการคิด ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งถ้าเรียนวิชาชีววิทยาก็จะรู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้จากการความผิดปกติของยีนส์ เป็นต้น หากมีความคิดแบบที่คิดเป็นสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
หรือ ในวิชาวิทยาศาสตร์ ใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่แทนที่จะสอนให้จำจากตำราในชั้นเรียน ก็ต้องให้เด็กได้ทำ ได้ดูจริงนอกชั้นเรียน หรือจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเรียนมา ครูไทยมักจะเขียนสูตรขึ้นกระดาน เตรียมสอนให้เด็กจำ ต่างจากต่างชาติ เช่น ประเทศเยอรมนีที่เขาจะสอนโดยเริ่มจากธรรมชาติให้เด็กได้สังเกตเอง สัมผัสเอง แล้วนำสู่การตั้งสมมติฐานเพื่อให้นักเรียนไปพิสูจน์ หาข้อมูลมาพิสูจน์จากนั้นใช้หลักทฤษฎีตำราต่างๆ ดึงออกมาเชื่อมโยงกัน กลายเป็นสูตรต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยได้ร่ำเรียนกัน ด้วยเหตุนี้คนเยอรมันจึงคิดเป็น เกิดการยอมรับไปทั่วโลก"
โดยสรุป คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มช. ยืนยันว่า ไม่จำเป็นที่ต้องให้เด็กได้เรียนเป็นร้อยชั่วโมงในห้องเรียนโดยไม่ได้คิดทำด้วยตนเอง และยังเห็นว่า “กรอบ” ก็มีประโยชน์ที่ช่วยทำให้คนมีวินัย มีแก่นสาร แต่ถ้าเราไปตีกรอบเหมือนกันหมดทุกคนให้เดินนั่ง ท่องจำในแบบที่เหมือนกันหมดทุกอย่างจะมีประโยชน์อะไร เราต้องยอมรับความหลากหลายของความคิดด้วย สังคมจึงจะอยู่ได้
"วันนี้เด็กไม่ได้ถูกสอนให้คิดอย่างมีคุณภาพ เป็นเรื่องที่ปฏิรูปกันไม่ทันแล้ว แต่ต้องกลับมาช่วยกันส่งเสียงดังๆ บอกให้ชัด เรื่องนี้รับไม่ได้ ให้คนตื่นตัวอย่างรวดเร็ว ให้ครูทั่วประเทศรู้ตัวว่า กำลังสอนอะไรกันอยู่ ทำให้เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติต้องอยู่ในภาวะที่สามารถพัฒนาได้หรือว่า เรากำลังกดดันบังคับให้เด็กเรียนอยู่ในระบบที่ผ่านไปวันๆ เท่านั้นเอง ต้องสังวรไว้ในเรื่องนี้ เรื่องการสอนให้เด็กคิดเป็นมีคุณภาพ จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่นั้นก็ต้องนำไปคิดกันเอง ต้องสังวรว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดจากปัญหาคุณภาพของการศึกษาไทย”
หลงทางนำกรอบการวัดคุณภาพการศึกษา
ส่วนการประเมินผลที่พบเห็นในระบบการศึกษาไทย ดร.พิสิฐ ชวนให้เราคิดต่อว่า เริ่มเดินหลงทางกันแล้ว การนำดัชนีต่างๆ มาวัดมากมายเป็นคนเก่ง คะแนนดีหรือไม่ จบการศึกษาแล้วมีงานทำภายในเวลาสามเดือนหรือไม่ อะไรต่างๆ เหล่านี้ หรือ กรณีเด็กที่เรียนจบวิจิตรศิลป์ที่เรียนมาไม่ได้มีงานทำ เทียบกับนักศึกษาแพทย์พยาบาลที่เรียนจบก็มีงานทำ ต้องดูด้วยว่าเพราะอะไร ไม่ใช่เด็กที่เรียนวิจิตรศิลป์ไม่เก่ง แต่เพราะแพทย์ พยาบาลขาดแคลนเป็นที่ต้องการมากเด็กที่จบจึงทำงานได้เลยต่างหาก ต้องดูให้มากกว่านั้นว่า การวัดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ การมาตีกรอบเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่
“กรอบการวัดคุณภาพการศึกษานั้นบางอย่างก็ดี บางอย่างก็ไม่ เรื่องนี้ควรกลับเอาไปคิดดูว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่า เกณฑ์ทุกวันนี้จะผิดไปหมดทุกอย่าง ไม่ได้หมายความว่า ต้องเปลี่ยนหมดทุกอย่าง แต่บางอย่างบางเรื่องต้องให้แต่ละคนนำกลับไปคิดใหม่ ถ้ายังคิดไม่เป็นก็ต้องหาวิธีให้คิดให้เป็น”
ในฐานะที่อยู่ในแวดวงอุดมศึกษา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มช. มองไปที่บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยว่า มหาวิทยาลัยต้องแยกแยะระหว่างการเป็นสถาบันการศึกษา (Education Institution) กับการเป็นโรงเรียนสอนอบรม (Training school) เช่น อบรมอาชีพให้ชุมชน ฯลฯ เพราะการเป็นสถาบันการศึกษานั้นมีความหมายที่กว้าง ความเป็นคนเราจะสอนให้เด็กเป็นคนที่มีความสมบูรณ์แบบได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเหมือนกันหมด แต่อย่างน้อยจบเป็นบัณฑิตแล้วต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ สามารถที่จะเป็นที่พึ่งให้คนอื่น ให้สังคมได้ด้วย
“ถ้าเด็กเรียนจบมาแล้วเห็นแก่ตัวก็ใช้ไม่ได้ จบมาแล้วคิดว่าตัวเองเอาตัวรอดได้ แต่ไม่สนใจสังคมก็ใช้ไม่ได้ มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสถาบันการศึกษาที่ต้องผลิตบัณฑิตเพื่อสังคม”
จากนั้น ดร.พิสิฐ ได้เล่าถึงงานที่รับผิดชอบอยู่ว่า ได้พยายามนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกไปศึกษาในพื้นที่จริง เพื่อให้ได้คิดเอง คิดเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ไม่ใช่เพียงนั่งจดเพื่อไปสอบ การศึกษาแบบนี้มหาวิทยาลัยต้องพยายามเผยแพร่ ชี้แจง สัมมนา ปรับบทบาทต่อสังคม ให้นักศึกษาสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย แทนการมุ่งติดอันดับดีๆ ในต่างประเทศอย่างเดียว
ระบบการศึกษาพาชาติออกจากวิกฤติ
เมื่อไล่เรียงปัญหามาทั้งหมด ดร.พิสิฐ เสนอว่า ระบบการศึกษาที่จะพาชาติออกจากวิกฤติได้นั้น หนึ่ง เรา ต้องเปลี่ยนให้น้ำหนักการเรียนของระบบการบรรยาย (Lecture) ต้องลดลงให้เป็นระบบของการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน (Discussion) ให้มากขึ้น ต้องทำให้เด็กได้เรียนในห้องเล็กไม่ใช่ให้เรียนในห้องใหญ่ ต้องทำให้ระบบการสอนเด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้น สอง เราต้องทำให้เด็กได้สัมผัสกับโลกภายนอกห้องเรียนให้มากกว่าปัจจุบัน ให้เด็กได้ลุยในพื้นที่จริง ติดดิน ไม่ใช่ทำอะไรเองไม่ได้ แค่มดกัดก็โวยวายแล้ว และสาม ต้องทำให้เด็กมีหัวใจที่เปิดกว้าง ยอมรับความคิดใหม่ๆ
“เช่น สถานการณ์ตอนนี้ที่เราจะเห็นว่า คนเสื้อสีต่างๆ อาจมีความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ อาจมีความคิดที่ใช้ไม่ได้ แต่เราก็ต้องอดทนที่จะยอมรับฟัง รับฟังทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดีด้วย แม้บางคนอาจจะมีความคิดที่ใช้ไม่ได้ เราก็ต้องบอกเขาแล้วก็ชี้แจง คือ เราต้องยอมรับความคิดที่หลากหลาย แตกต่างจากความคิด เพราะความคิดเราไม่ได้ดีกว่าคนอื่นเสมอไป วันนี้เราต้องสร้างการเปิดใจให้กว้าง ต้องสร้างการรับฟังอย่างอดทน”
ทั้งนี้ ดร.พิสิฐ เห็นด้วยที่ปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้ มุ่งเป้าทำให้ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ”
"แต่ก็จะต้องคิดกันให้ลึกว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ อย่านำสูตร (วิธีการ) แบบเดียวกันมาใช้กับทุกวิชา ทุกแขนง เพราะแต่ละแขนงวิชานั้นต่างกัน สิ่งแรกต้องปรับเปลี่ยนลักษณะการเรียนรู้ของเราให้คนคิดเป็น คิดแปลกใหม่ คิดสร้างสรรค์ได้ สังคมไทยยังไม่ค่อยส่งเสริม สนับสนุนให้คนมีความคิดริเริ่ม หรือมีความคิดใหม่ๆ"
สังคมไทยมีคนหลากสีในทางความคิด
"ที่ตอนนี้มีคนเป็นหมื่นออกมาทำสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าใดนัก ทำให้คนหลงเชื่อบางสิ่งง่ายนัก หรือเช่น การนำเลือดมาเทประท้วง ต้องถามว่ามันเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา เป็นสิ่งที่สมควรทำแล้วหรือไม่ ถ้าถามว่าคนไทยมีความคิดหรือไม่ ก็ตอบว่าคนไทยหลายคนมีความคิด แต่ความคิดเหล่านั้นไม่ได้ถูกกระจายออกไปเท่าที่ควร จึงเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ขึ้น หากวันนี้มหาวิทยาลัยไทยได้ลงมาร่วมช่วย ร่วมลงมาทำ ปัญหาของสังคมตอนนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น” ดร.พิสิฐ แสดงทัศนะ เมื่อถามถึงความแตกต่างทางคิดของสังคมไทยปัจจุบัน ผลพวงมาจากการจัดการศึกษาที่ล้มเหลวใช่หรือไม่ พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า
"ประเทศไทยมีทรัพยากรมาก เราไม่ได้ขัดสนมีอาหาร มีบุคลากรเพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่เราอาจจะถูก “ตามใจกันมากเกินไป” วันนี้เราต้องทำให้คนไทยมีความคิดที่หลากหลาย คิดริเริ่ม เพราะจะนำไปสู่ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยตัวของเราเองได้โดยไม่ต้องไปจ้างต่างชาติมาแก้ให้ใน เรื่องต่างๆ ถ้าเราสามารถคิดเป็น ขยายผลเองได้
มีหลายๆ เรื่องเราก็ทำสำเร็จ เช่น การต่อยอดทางความคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงต่อยอดจากสิ่งที่เห็นและสัมผัสจริงๆ ในสังคมเรา เป็นตัวอย่างที่ดีมากที่ไม่ได้มาจากความคิดของต่างชาติ จนกระทั่งวันนี้เรื่องนี้ก็สอดคล้องรับกับกระแสโลกด้วยในเรื่องของสิ่งแวด ล้อม เกษตรกรรมแบบผสมผสาน"
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th