กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานีประจำปี ๒๕๕๓ (การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำแบบปฏิบัติการภาคสนาม) ในวันศุกร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ เขื่อนสิรินธร (พัทยาน้อย) ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในการกู้ภัยทางน้ำอย่างถูกต้องปลอดภัย รวมถึงสามารถประสานการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายบพิตร พันธุ์พินิจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ประชาชนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น หาดคูเดื่อ หาดสีภิรมณ์ หาดเขื่อนสิรินธร แก่งสะพือ เขื่อนปากมูล เป็นต้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี ๒๕๕๓ (การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำแบบปฏิบัติการภาคสนาม) ในวันศุกร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ เขื่อนสิรินธร (พัทยาน้อย) ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยจำลองสถานการณ์เหมือนจริง ซึ่งแบ่งเป็น ๖ ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดพื้นที่ที่เกิดภัยและจัดเตรียมผู้ประสบภัยสมมติตามจำนวนที่เหมาะสม
การจัดตั้งกองศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจหรือศูนย์บัญชาการส่วนหน้า เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการบัญชาการ สั่งการและประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง การจัดชุดปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัย ค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ การจัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน(EMS) ดำเนินการปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยในเบื้องต้น การจัดหน่วยกู้ชีพกู้ภัยหรือสมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) และการจัดทีมรักษาความปลอดภัยชุดอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ รวมถึงสามารถประสานการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำของจังหวัด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-243-2200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย