กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงไอซีทีได้ดำเนิน โครงการร่วมสร้างดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (Small Multi — Mission Satellite : SMMS) ที่เกิดจากความร่วมมือพหุภาคีด้านเทคโนโลยีอวกาศและการนำมาใช้ประโยชน์ในภูมิภาคและเอเชียแปซิฟิกระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งดาวเทียม SMMS นี้ได้ขึ้นสู่วงโคจร ณ ฐานปล่อยจรวด เมืองไท้หยวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา โดยดาวเทียมดังกล่าวได้ติดตั้งอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพสี CCD แบบ 4 แถบความถี่ ที่รายละเอียด 30 เมตร/จุด ความกว้างของภาพ 700 กิโลเมตร และกล้องถ่ายภาพ Hyperspectrum (HSI) แบบ 115 แถบความถี่ ที่รายละเอียดแถบความถี่เท่ากับ 5 nm และมีรายละเอียด 100 เมตร/จุด ความกว้างของภาพ 51 กิโลเมตร ปรับมุมได้ 30 องศา ทำให้ข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนภารกิจหน่วยงานภาครัฐในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลจากอุปกรณ์ HSI ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย
“ปัจจุบันรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ข้อมูลภาพถ่ายจากกล้อง CCD และ HSI แก่ประเทศไทยโดยผ่านความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ประเทศไทยจึงควรมีการศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้งานที่เหมาะสม และแนวทางการลงทุนเพื่อรับข้อมูลจากดาวเทียม SMMS และดาวเทียมอื่นๆ ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กร APSCO ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้น กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนารูปแบบและแนวทางการประยุกต์ใช้งานจากภาพถ่ายดาวเทียม SMMS ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย” นายสือ กล่าว
จากผลการศึกษารายละเอียดข้อมูลจากดาวเทียม SMMS ตามโครงการดังกล่าว พบว่า ข้อมูล CCD ที่ความละเอียดจุดภาพ 30 เมตรนั้นมีคุณลักษณะที่ใกล้เคียงมากกับข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT-5 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในการนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนข้อมูล HSI นั้นเป็นข้อมูลที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย จึงต้องมีการศึกษาในเชิงลึกถึงการนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างเหมาะสมอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยข้อมูล HSI เบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการแยกแยะองค์ประกอบหรือประเภทของวัตถุบนพื้นโลกได้อย่างหลากหลาย และดีกว่าข้อมูล CCD จึงทำให้สามารถนำมาใช้ได้หลายๆ ด้าน เช่น การแยกประเภทและอายุพืช การประเมินปริมาณแร่ธาตุและความชื้นในดิน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิจัยต่อเนื่องเพื่อจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรของประเทศได้ ส่วนข้อมูล CCD นั้น สามารถนำมาผสานกับข้อมูลความสูงเชิงเลข (DEM) เพื่อจัดสร้างเป็นภาพพื้นผิว 3 มิติ และนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการต่างๆ ได้ เช่น การเฝ้าระวังภัยพิบัติดินถล่ม น้ำท่วม การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนการวิเคราะห์วงโคจรของดาวเทียม SMMS พบว่า พาดผ่านประเทศไทยถึง 20 วัน จากคาบวงโคจร 31 วัน และในแต่ละรอบ สามารถบันทึกภาพกว้างได้ถึง 700 กิโลเมตร จึงมีโอกาสในการถ่ายภาพบริเวณของประเทศไทยสูงมาก และหากรวมดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมในโครงการแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมสำรวจโลกภายใต้ความร่วมมือองค์การ APSCO แล้ว จะยิ่งทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลดาวเทียมหลายดวงและหลายรูปแบบ อันเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านข้อมูลดาวเทียมและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำข้อมูลสารสนเทศของประเทศไทยในอนาคตได้