สำนักงาน ก.พ. ผลักดันทุกส่วนราชการเร่งประเมินผลงาน

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2010 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สำนักงาน ก.พ. เลขาธิการ ก.พ. เชื่อมั่นระบบการประเมินผล งานและการเลื่อนเงินเดือน ขรก.ระบบใหม่ที่ยึดหลัก การจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน จะสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการ ชี้ระบบใหม่เป็นระบบที่ ใครมีผลงานที่ดีต้องได้รับค่าตอบแทนที่ดี นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการจากบัญชีอัตราเงินเดือนแบบ “ขั้น” ไปเป็นบัญชีอัตราเงินเดือนแบบ “ช่วง” เพื่อให้โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการในอนาคตมีความยืดหยุ่น ดังนั้น การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการจึงเปลี่ยนจากระบบเดิมที่เป็นการเลื่อนแบบ “ขั้น” เป็นการเลื่อนแบบ “ร้อยละ” โดยยึดหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามค่างาน และผลงาน บทบาทของผู้บังคับบัญชาในการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการระบบใหม่จะมีมากขึ้นกว่าเดิมในฐานะผู้รับผิดชอบงานและขับเคลื่อนการทำงานของส่วนราชการ อย่างไรก็ดี ผลการเลื่อนเงินเดือนจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับต้นทาง คือ ระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งต้องสามารถวัดผลการปฏิบัติงานของข้าราชการได้อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เปอร์เซ็นต์เลื่อนเงินเดือนตรงกับผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง สำนักงาน ก.พ. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการใหม่ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของส่วนราชการและจังหวัด เช่น การกำหนดองค์ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อย 2 องค์ประกอบ คือ ผลสัมฤทธิ์ของงาน และ พฤติกรรมการปฏิบัติราชการ ซึ่งส่วนราชการสามารถกำหนดมากกว่า 2 องค์ประกอบก็ได้ แต่ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์ของงานจะต้องมีสัดส่วนคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จากคะแนนเต็ม 100 การกำหนดระดับผลการประเมินอย่างน้อย 5 ระดับ ซึ่งส่วนราชการสามารถกำหนดได้มากกว่านี้ก็ได้ เป็นต้น ดังนั้น จากกรอบมาตรฐานที่เปิดแนวทางให้มีความยืดหยุ่น ส่วนราชการสามารถกำหนดวิธีการประเมิน สัดส่วนการประเมิน ระดับคะแนนการประเมิน ฯลฯ ที่แตกต่างไปได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสม สำหรับกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการจะเริ่มต้นตั้งแต่ต้นรอบการประเมิน (กำหนดให้ประเมินปีละ 2 รอบ คือ รอบแรก 1 ต.ค. — 31 มี.ค. และรอบสอง 1 เม.ย. — 30 ก.ย.) ผู้บังคับบัญชาและข้าราชการจะต้องเริ่มต้นด้วยกัน ตั้งแต่การมอบหมายงาน ตกลงการทำงานร่วมกันโดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมายงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างผลสัมฤทธิ์ของงานร่วมกัน และเมื่อถึงปลายรอบการประเมินก็จะประเมินผลงานจริงเทียบกับข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ตอนต้นรอบการประเมิน ซึ่งผลงาน จะมองทั้งในเชิงปริมาณว่าทำได้มาก ได้น้อย เพียงใด คุณภาพของผลงานเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ มีความฉับไวในการทำงาน ลดขั้นตอนการทำงาน หรือมีความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรอย่างไร สำหรับพฤติกรรมการทำงาน จะประเมินจากสมรรถนะ เช่น มีความตั้งใจและพยายามทำงานให้ดีทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ถูกต้อง ให้บริการด้วยไมตรีจิตเกินความคาดหวังของประชาชนผู้รับบริการ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นต้น ตามแนวทางการประเมินใหม่ดังกล่าวข้างต้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อข้าราชการและหน่วยงาน เพราะแต่ละบุคคลจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า การทำงานของตนส่งผลต่อความสำเร็จของส่วนราชการอย่างไร ผลงานของตนมีผลกระทบต่อเป้าหมายรวมขององค์กรอย่างไร รวมทั้งการได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับความทุ่มเทในการทำงานจนเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น ทั้งการประเมินก็ยังสามารถลดวิจารณญาณส่วนตัวของผู้ประเมิน หรือลดความเอนเอียงในการประเมิน เพราะข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันระหว่างผู้ถูกประเมินและผู้ประเมินว่าจะประเมินผลงานอย่างไร ได้รับการตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นรอบการประเมิน นอกจากนี้ การหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางขจัดจุดอ่อนหรืออุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ และการติดตามผลงานของผู้ประเมินอย่างเป็นระบบ ล้วนเป็นบทบาทที่หากผู้บังคับบัญชา/ผู้ประเมินได้ดำเนินการอย่างมุ่งมั่นแล้ว ย่อมส่งผลต่อผลงานที่สมบูรณ์โดยรวมของหน่วยงานนั้นๆ สำหรับ ระบบการเลื่อนเงินเดือนใหม่กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร คือ ร้อยละ 3 ของเงินเดือนข้าราชการในแต่ละส่วนราชการ ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนตามผลงานของข้าราชการได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงโควตาจำนวนคน “ดีเด่น” ร้อยละ 15 แบบเดิม นอกจากนี้ ผู้ที่มีผลงานดีเด่นจะมีโอกาสได้เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละที่มากกว่าระบบเดิม โดยเลื่อนได้สูงสุดร้อยละ 6 ต่อรอบการประเมิน (ระบบเดิมเลื่อนได้สูงสุด 1 ขั้น ประมาณร้อยละ 4 ต่อรอบการประเมิน) สำหรับผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ที่ลดหลั่นกันลงมา ก็จะได้เลื่อนเงินเดือนเป็นอัตราร้อยละที่ถัดลงมาเช่นกัน และหากผู้มีผลงานดีเด่นได้เลื่อนเงินเดือนในอัตราที่สูงแล้วผู้ที่มีผลงานน้อยกว่าก็จะได้เลื่อนเงินเดือนในอัตราที่น้อยลง ซึ่งจะมากน้อยเท่าใดก็เป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมกับวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การทำงานของข้าราชการจะพัฒนาในแนวทางที่ดีมากขึ้น เพราะมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน ผู้ที่ทำงานและมีผลงานดี จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งช่วยสร้างขวัญ สร้างกำลังใจ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ ลุล่วง เกิดผลงานที่ดี ส่งผลถึงประชาชนจะได้รับการปฏิบัติและการบริการที่ดีจากหน่วยงานของรัฐ ก่อให้เกิดผลสำเร็จทั้งภาครัฐ และประชาชน อันนำมาซึ่งการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ นางเบญจวรรณ กล่าวในที่สุด ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณจุฑารัตน์ ถือซื่อ (เล็ก) E-mail: toblabbermouth@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ