ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช เชิญเที่ยวงาน "บุญเดือนห้า มหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร ๒๕๕๓"

ข่าวท่องเที่ยว Monday March 29, 2010 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช บุญเดือนห้า มหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร ๒๕๕๓ ระหว่างวันที่ ๑๑ — ๑๕ เมษายน ๒๕๕๓ สวนศรีธรรมาโศกราชและหอพระอิศวร สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ มหามงคลแห่งชีวิต พุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียกหาอดีตด้วยมนต์ขลังกับชุมนุมเทพ ตื่นเต้น เร้าใจ กับพิธีแห่นางดาน อลังการตำนานเมืองนคร หนึ่งเดียวในสยาม ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่แบบเก่าของไทย ซึ่งตรงกับเวลาที่ดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ กำหนดตามสุริยคติ ตกวันที่ ๑๓ — ๑๔ — ๑๕ เมษายน ของทุกปีเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่มีคุณค่าต่อสังคม ครอบครัว ศาสนาและวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสานต่อเพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม วันที่ ๑๓ เมษายน ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “วันเจ้าเมืองเก่า” เป็นวันส่งเจ้าเมืองเก่า ชาวนครศรีธรรมราชจึงทำความสะอาดบ้านเรือน หลังจากนั้นจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง หนึ่งในสามองค์ของประเทศไทย นำมาประดิษฐานที่สนามหน้าเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชาและสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล วันที่ ๑๔ เมษายน ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “วันว่าง” เชื่อกันว่าเจ้าเมืองยังสถิตย์อยู่บนสวรรค์ ในวันนี้ไม่มีเจ้าเมืองประจำเมืองคุ้มครองรักษา ประชาชนจะร่วมกันทำบุญแล้วนำอาหารและเครื่องบูชา ไปเคารพผู้อาวุโสและพระสงฆ์ ถือโอกาสนี้ขอพรรดน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล วันนี้จะมีการละเล่นพื้นบ้านเพื่อความรื่นเริงและสนุกสนาน วันที่ ๑๕ เมษายน วันเถลิงศก เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เชื่อกันว่าเจ้าเมืองที่ได้รับมอบหมายให้คุ้มครองเมืองต่าง ๆ ลงมาประจำเมือง ชาวเมืองจึงเตรียมการต้อนรับ ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ แล้วนำอาหารไปถวายพระที่วัด นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสที่ได้ไปรดน้ำขอพรจากอาวุโสที่ตกค้าง หากว่าปีใดมีเดือนแปด ๒ ครั้ง ให้ถือว่าวันว่างมี ๒ วัน ดังนั้น วันที่ ๑๓ เมษายน จึงเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันส่งเจ้าเมืองเก่า และวันที่ ๑๔ และ ๑๕ เมษายน เป็นวันว่าง และวันที่ ๑๖ เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือวันรับเจ้าเมืองใหม่ ประเพณีสงกรานต์ แม้ว่าจะจัดทั่วไปในประเทศไทย แต่สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองมีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสามองค์ของประเทศไทย ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีปฎิบัติที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ส่วนทางด้านศาสนาพราหมณ์นั้นมีหออิศวร /หอพระนารายณ์ โบราณสถานเขาคา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิมานของพระอิศวร ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผนวกเอางานแห่นางดานซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยมาร่วมอยู่ในงานเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องประเพณีที่เก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาเจริญรุ่งเรืองในนครศรีธรรมราช อีกทั้งสร้างความตระหนักว่านครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ประเพณีแห่นางดาน เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นเมืองเกษตรกร ย่อมต้องการให้พระองค์บันดาลความอุดมสมบูรณ์แกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เทพที่อัญเชิญรับเสด็จประกอบด้วยพระอาทิตย์พระจันทร์/ ระแม่คงคา / พระแม่ธรณี เทพดังกล่าวนี้จารึกหรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ชาวนครศรีธรรมราช เรียกไม้แกะสลักดังกล่าวนี้ว่า “นางกระดาน” หรือนางดาน เมื่อถึงวันพิธีก็อัญเชิญนางกระดานทั้ง 3 นี้มายังเสาชิงช้าในหออิศวร เพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลกมายังเสาชิงช้าดังกล่าว ความหมายของนางกระดานแผ่นที่ ๑ : นามว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ พระอาทิตย์ หรือ พระสุริยา เป็นผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อน แก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์อื่น ๆ ด้วยการชักรถม้าเคลื่อนไปในจักรวาลไม่มีวันหยุด ให้พลังงานแก่สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ก่อให้เกิดวัฎจักรแห่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดุกาล ถือเป็นเทพที่มีคุณูปการต่อการอยู่รอดของสรรพสัตว์พระจันทร์ หรือ “รัชนีกร” เป็นเทพผู้สร้างกลางคืน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงามอ่อนละมุน ถือเป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อนและผสมพันธุ์สืบมาถึงปัจจุบัน ความหมายของนางกระดานแผ่น ๒ : นามว่าพระธรณี 1. พระธรณี เทพองค์นี้ มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายสิ่งที่พระอิศวรสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย รองรับทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ เป็นเทพผู้สะสมคุณงามความดีทั้งปวง เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกและขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรงจึงมีการทดสอบโดยหยั่งพระบาทลงมาซึ่งหากหยั่งทั้งสองพระบาท เกรงว่าโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทมาเพียงข้างเดียว และในการนี้มีพระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รองรับพระบาทของพระอิศวรเอาไว้ จากพุทธประวัติได้กล่าวถึงเกียรติคุณพระธรณีอยู่ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันเพ็ญเดือนหกก่อนพุทธกาล พระยาวัตดีมารมาขัดขวางมิให้พระสิทธัตถะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีการโต้เถียงทวงสิทธิ์โพธิบัลลังก์กัน พญามารจึงให้รี้พลย่ำยีพระสิทธัตถะ หวังให้พระสิทธัตถะลุกหนีหรือม้วยมรณ์ เหตุการณ์นี้พระธรณีได้สดับอยู่ เห็นจริงว่าพระสิทธัตถะมีเจตนากระทำเพื่อมวลมนุษย์โดยแท้ จึงปรากฏกายขึ้นข้างบัลลังก์ใต้ร่มโพธิ์ที่พระสิทธัตถะประทับแล้วก็ปิดน้ำในโมฬีแห่งตน กระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศาแห่งพระธรณี นองท่วมประดุจห้วงมหาสมุทร ในที่สุดเสนามารก็ตาย พระสิทธัตถะจึงสำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ความหมายของนางกระดานแผ่น ๓ : นามว่าพระคงคา พระคงคา เทพองค์นี้เป็นธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร พระคงคาเป็นเทพผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำสมบูรณ์ให้แก่สรรพสิ่ง แต่เดิมอยู่บนสวรรค์ เพิ่งจะลงมาสู่โลกมนุษย์ในครั้งที่ท้าวภคีรถสำเร็จการพิธีอัญเชิญให้ลงมาชำระอัฐิโอรสท้าวสัคระที่ถูกท้าวกบิลบันดาลด้วยฤทธิ์เป็นเพลิงไหม้ตาย จึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากพระคงคาบนสวรรค์มาชำระอัฐิ จึงจะหมดบาปไปบังเกิดในสวรรค์ได้อีก กำหนดการ บุญเดือนห้า มหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร ๕๓ ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๕ เมษายน ๒๕๕๓ ณ สวนศรีธรรมาโศกราช และหอพระอิศวร สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ มหามงคลแห่งชีวิต พุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียกหาอดีตด้วยมนต์ขลังกับชุมนุมเทพ ตื่นเต้น เร้าใจกับพิธีแห่นางดาน อลังการตำนานเมืองนคร หนึ่งเดียวในสยาม วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐ น —๒๒.๐๐ น. ณ สวนศรีธรรมาโศกราช -มหกรรมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง - ชมนิทรรศการด้านการท่องเที่ยวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ - บอกกล่าวเล่าขานเรื่องราวพระพุทธสิหิงค์ และชุมนุมเทพ - กิจกรรมนั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องลิกอร์/นั่งสามล้อโบราณชมเมืองเก่า -ชมการแสดงทางวัฒนธรรม วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐- ๒๒.๐๐ น. ณ สวนศรีธรรมาโศกราช - พิธีบวงสรวงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์ผู้สร้างบ้านแปงเมือง - พุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ จาก ๖ แหล่ง วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา๐๖.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ สวนศรีธรรมาโศกราช - พิธีทำบุญตักบาตรปีใหม่ - สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ - พิธีสรงน้ำพระสงฆ์ - รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่แบบครึ่งเบญจา วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐— ๒๒.๐๐ น. ณ หอพระอิศวร - บวงสรวงพระศิวะ พิธีแห่นางดาน - ตื่นเต้น เร้าใจ กับการแสดง Mini Light & Sound ชุดแห่นางดาน วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐น. - ๒๒.๐๐ น. - กิจกรรมก่อกองทราย ณ วัดเสมาเมือง - มหกรรมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ