กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
“ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปี 2551 รายงานว่า โรงพยาบาลของรัฐ 172 แห่ง จาก 15 จังหวัด มีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล (เฉพาะที่เข้าถึงบริการ) จำนวน 468 ล้านบาท”
ที่มาของปัญหาในโรงพยาบาลแถบชายแดนครั้งนี้ มาจากการแบกภาระค่าใช้จ่ายประชากรซึ่งไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพใดๆ นานเข้ายิ่งสะสมกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รอการจัดการ
การให้สิทธิหลักประกันสุขภาพในสมัยอดีตมีหลายรูปแบบ ทั้งการให้สิทธิจากโครงการสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย(สปร.) การให้สิทธิในฐานะผู้ยากไร้ แต่เมื่อมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชน “คนไทย” ทุกคนจะได้รับสิทธิทางสุขภาพเพื่อให้สามารถเข้าถึงการรักษาป้องกันอย่างทั่วถึง
ล่าสุดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสนอของบประมาณค่าใช้จ่ายให้กับคนกลุ่มนี้แล้ว คาดว่าจะได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นไป
คนไร้สถานะทั้งกลุ่มเด็กไร้รากเหง้า ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธ์ คนบนพื้นที่สูง คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งบางคนอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติเนื่องด้วยปัญหาความมั่นคงและข้อกฎหมายหลายๆ อย่าง ถูกตัดขาดจากสิทธิการมีสุขภาพดีเท่าเทียมผู้อื่นอย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการได้รับวัคซีนจำเป็นก็ยังไม่มี
โรงพยาบาลในแถบชายแดน ถือเป็นปราการด่านสำคัญที่รองรับประชากรเหล่านี้ ปัญหาโรคระบาดบาด และโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ชายแดน ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องให้ความช่วยเหลือและเร่งแก้ไข เพราะพบว่า โรคที่หายไปจากเมืองไทยกลับพบ และเกิดการระบาดในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ไข้กาฬหลังแอ่น โปลิโอ อหิวาตกโรค เป็นต้น และมีการระบาดของโรคติดต่อเพิ่มขึ้น เช่น อุจจาระร่วงอย่างแรง มาลาเรีย วัณโรค เอดส์ หากปล่อยไว้ยิ่งนานยิ่งแก้ยากและลุกลาม
แน่นอนว่าหากปล่อยให้เกิดการระบาดของโรคเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคที่อาจจะส่งผลต่อคนไทยในพื้นที่ และเคยพบว่าจากการเคลื่อนย้ายประชากรทำให้โรคติดต่อเหล่านี้ข้ามเข้าไประบาด ในพื้นที่เมืองได้เช่นกัน
“ละเมือย” ชาวบ้านในเกาะของ อ.สังขละบุรี ซึ่งมีชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมาก เธออาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยมากว่า 10 ปี มีเลข 13 หลัก มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์แล้ว แต่ไม่มีสิทธิใดๆ ไม่ว่าจะตัวเอง พ่อ แม่ ลูก
สมาชิกในบ้านของละเมือย ป่วยเป็นโรคความดัน ต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการเจ็บป่วยแต่ละครั้งแน่นอนว่าต้องจ่ายค่ารักษาเอง มีก็จ่าย ไม่มีก็ติดโรงพยาบาลไว้ โดยที่ไม่ทราบว่าโรงพยาบาลเป็นหนี้มากน้อยเท่าไหร่ แต่ก็พยามยามจะหาเงินมาจ่ายให้ได้เสมอ ยังโชคดีที่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหมั่นมาดูแลอยู่ไม่เคยขาด หากเป็นไปได้ละเมือย ก็อยากได้สิทธิให้ลูกได้เรียน ได้มียารักษา ได้รับวัคซีนครบเพื่อให้มีสุขภาพดีๆ เช่นกัน
การให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ กลุ่มประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล ซึ่งหมายถึงได้เข้ามาตั้งรกราก และอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย จึงเป็นกลุ่มหลักที่ควรได้รับการช่วยเหลือ
นายสรวิชญ์ แชกอ ตัวแทนจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย บอกว่า การเพิ่มให้มีหลักประกันสุขภาพสำหรับบุคคลไร้สัญชาติจะช่วยได้มากในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพโดยตรง เพราะจากเดิมมีปัญหามากเวลาเข้าไปรับการรักษา ทั้งด้านการสื่อสารกับแพทย์และพยาบาล และต้องเดินทางไกล ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพง อีกทั้งประสิทธิภาพในการรักษาก็น้อยกว่าคนทั่วไป
นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ให้ความเห็นว่า การได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่คนทุกคนควรจะได้รับจากรัฐโดยเสมอภาคกัน
“สำหรับการตีความว่า ต้องดูแลเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะตามกฎหมาย การดูแลรักษาและเข้าถึงการประกันสุขภาพ บอกว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คนทุกคนต้องได้รับการดูแลเท่ากัน”
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน ให้มุมมองว่า ในตอนนี้ หลายโรงพยาบาลตามจังหวัดชายแดน ประสบกับปัญหาด้านงบประมาณในการจัดสรรดูแลกลุ่มคนไร้สัญชาติ แต่ด้วยจรรยาบรรณของสาธารณสุข จำเป็นที่ต้องมีการรักษาคนทุกกลุ่ม
“ถ้า 1 เมษายน 53 เป็นต้นไป รัฐมีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ การทำงานของหมอชายแดน ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก และไม่มองว่าจะมีการทำงานหนักขึ้นหรือน้อยลง เพราะในตอนนี้เจ้าหน้าที่ทุกคน ก็ทำหน้าที่ในการดูแลคนป่วยอย่างเต็มความสามารถ แต่สำหรับบางสถานโรงพยาบาลที่ยังมีการเก็บเงินจากคนไข้กลุ่มนี้อยู่ ก็คงต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆได้เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงพยาบาล”
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เชื่อว่า ข้อเสนอนี้มีเหตุผล และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นการคาดการณ์เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งใช้เงินงบประมาณที่เหลืออยู่ของสำนักงานฯมาทดลองบริหาร จึงไม่มีเหตุผลใดที่สำนักงบประมาณหรือสภาความมั่นคงจะคัดค้าน
แนวทางที่จะเกิดขึ้น คือ การจัดตั้ง “กองทุนบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล” โดยจะแบ่งบุคคลที่ได้รับสิทธิเป็น 3 กลุ่ม
1 กลุ่มที่ครม.ให้การรับรองให้อยู่ในประเทศไทยโดยถาวร 90,000 ราย
2 กลุ่มที่ ครม.ผ่อนผันให้อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอพิสูจน์สถานนะบุคคล โดยมีแนวโน้มว่าจะได้รับสัญชาติ 296,863 ราย
3 กลุ่มนักเรียนที่ได้รับสิทธิเรียนฟรี ตามนโยบายรัฐบาลแต่ยังไม่ได้บริการด้านรักษาพยาบาล และเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติมีบัตรประจำตัวชัดเจนแล้ว 70,513 คน
รวมทั้งสิ้น 457,409 ราย ใช้งบประมาณ 472 ล้านบาท เฉลี่ย 2,067.40 บาทต่อคนต่อปี
“ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้คนกลุ่ม นี้ได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องการรักษาพยาบาลแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล เพราะมีความกังวลด้านผลกระทบหลายๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ และการเรียกร้องสิทธิเรื่องสัญชาติเพิ่มเติมตามมา” นพ.วินัย ระบุ
ทั้งที่ ครม.เคยมีความเห็นชอบในยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาและสถานะ และสิทธิของบุคคล ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เสนอ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการกำหนดสถานะของสิทธิบุคคล ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งยุทธศาสตร์หนึ่งคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อเสนอความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหาบุคคลกลุ่มนี้วาระก็มักตกไปและไม่ได้ รับความสำคัญเสมอเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังของโรงพยาบาลใน พื้นที่ซึ่งต้องแก้ปัญหาตามมีตามเกิด กลายเป็นแผลเรื้อรังที่อาจจะติดเชื้อลุกลาม ถ้าไม่รักษาตั้งแต่วันนี้!!
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th