พม.จับมือหน่วยงานรัฐ ลงนามความร่วมมือยุติความรุนแรงในครอบครัว ชูโครงการสุภาพบุรุษต้นแบบ เป็นแบบอย่างการลดความรุนแรง

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2010 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับ ๑๐ หน่วยงานภาครัฐ จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานยุติความรุนแรงในครอบครัว โดยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์ทูตสันถวไมตรี ในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ของกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี ณ หอประชุมกองทัพเรือ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ในรูปกฎหมายขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ระหว่าง ๑๐ หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานลักษณะบูรณาการ ทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติในการช่วยเหลือคุ้มครอง การป้องกัน เฝ้าระวัง และจัดทำระบบข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งให้สังคมเกิดความตระหนักในความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นายอิสสระ กล่าวต่อว่า นอกจากการขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ยังได้ดำเนินโครงการสุภาพบุรุษต้นแบบลดความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเป็นรางวัลเกียรติยศแก่บุคคลที่เสียสละ อดทน และตั้งใจทำงานในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ถือเป็นแบบอย่างของการดำเนินงานลดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด โดยในปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินงานได้ทำการคัดเลือกสุภาพบุรุษต้นแบบจาก ๕ จังหวัดนำร่อง คือ ปทุมธานี นนทบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี จำนวน ๒๖ คน ทั้งนี้ ยังได้มอบประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องทั้ง ๕ จังหวัด ด้วย “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความละเอียดซับซ้อน เพราะมีความเกี่ยวพันกับคนใกล้ชิด การใช้มาตรการทางอาญาตามประมวลกฎหมายมาบังคับ จึงไม่เหมาะสม เนื่องจากกฎหมายอาญามุ่งลงโทษผู้กระทำความผิดมากกว่าที่จะแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดหรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายอิสสระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ