กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สถาบันอาหารจับมือเจโทร
สถาบันอาหารจับมือเจโทร กรุงเทพฯ จัดสัมมนาวิชาการ แนะผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทยเร่งศึกษากฎระเบียบด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์และเครื่องดื่มในญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์และฉลากอาหารให้ได้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยต่อตัวสินค้า ทั้งสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยโดนใจผู้บริโภคญี่ปุ่น ชี้สินค้าสนองความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ(Aging Society) หมวดอาหาร/เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือ Functional Food & Drink มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ขณะที่อาหารไทยรสเผ็ด และรสกลมกล่อมเป็นที่ถูกปากผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยเฉพาะเครื่องปรุงอาหารไทย เช่น น้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ ปี 53 มีแนวโน้มสดใสขยายตลาดในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
รร.สวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด/นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่น ในงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “กฎระเบียบด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์และฉลากอาหารในตลาดญี่ปุ่นที่ไทยต้องรับมือ” ที่สถาบันอาหารร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กรุงเทพฯ จัดขึ้น ว่าปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย โดยเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 3,317 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย (22,398 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับสินค้าอาหารในญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 6 รองจาก สหรัฐอเมริกา(26%) จีน(13%) ออสเตรเลีย(7%) และแคนาดา (6.5%) สำหรับสินค้าอาหารส่งออกของไทยในตลาดญี่ปุ่นที่สำคัญได้แก่ ไก่ปรุงสุก กุ้งแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง น้ำตาลทรายดิบ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
และเนื่องจากปัจจุบัน ประเทศผู้นำเข้าอาหารต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่บรรจุอยู่ภายใน โดยมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์รวมถึงการแสดงฉลากอาหารมาอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นที่มีพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มโดยให้ความสำคัญกับเรื่องบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น ทั้งในด้านรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ และฉลากอาหาร
ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารไปประเทศญี่ปุ่น ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับต้นๆ จึงมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสินค้าอาหารถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือถูกส่งกลับ เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของญี่ปุ่น ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารได้รับทราบถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดความปลอดภัยด้านอาหารที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และฉลากอาหาร และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยลดปัญหาสินค้าถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือส่งกลับ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสินค้าอาหารของไทยในตลาดญี่ปุ่นได้อีกทางหนึ่ง
นายอมร กล่าวว่า “ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงมากสำหรับผู้ผลิตอาหารไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความต้องการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศถึงร้อยละ 60 ของความต้องการบริโภคทั้งหมด โดยผู้บริโภคญี่ปุ่นเน้นบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และความพิถีพิถัน เป็นผู้มีระดับรายได้สูง และยินดีจ่ายหากสินค้าอยู่ในความต้องการ ลักษณะสินค้าที่อยู่ในความต้องการควรเป็นสินค้าที่สนองความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ(Aging Society) อาหาร/เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือ Functional Food & Drink ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้บริโภคญี่ปุ่นมองอาหารเหมือนแฟชั่น รสนิยมและความต้องการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ประเทศไทยควรเรียนรู้พฤติกรรมที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป เพื่อมองหาโอกาสในการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน ผัก ผลไม้สด เช่น กล้วย เป็นต้นโดยแนวโน้มบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจและมุ่งสร้างมาตรฐานให้แก่บรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารของไทย ก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อทุกคน (Universal Design) บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลง (Mini Packs) และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถอุ่นด้วยไมโครเวฟได้ (Microwaveable Packaging)”
อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2553 นี้การส่งออกอาหารของไทยไปตลาดญี่ปุ่นอาจไม่เติบโตมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นเอง ผู้ผลิตไทยควรใช้ประโยชน์จาก JTEPA ในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งในปีนี้สินค้าอาหารไทยที่มีรสเผ็ด และรสกลมกล่อมสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยเฉพาะเครื่องปรุงอาหารไทย เช่น น้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มลู่ทางสดใสในการขยายตลาดในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 089 484 9894