กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สสวท.
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังต้นกล้าวิทย์ สร้างแนวคิดแห่งปัญญา” ซึ่ง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันจัดขึ้น นอกจากจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ ได้แสดงผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังเป็นเวทีที่น้องๆ หนู ๆ นักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย ได้ร่วมเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งได้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และได้ลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของเราสนุกสนานกันจนลืมเวลาเลยทีเดียว
ในห้องจัดกิจกรรมนิทรรศการของงานนี้ สสวท. และหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ได้มุ่งเน้นนำเสนอกิจกรรมผ่านห้องแห่งการเรียนรู้แบบเปิด ได้แก่ การทำกิจกรรมในห้อง เรียน ทำกิจกรรมในสิ่งที่สนใจอยากรู้ เรียนรู้ได้ ฝึกทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ โดยมีเกม และชุดกิจกรรมให้แก่ผู้ที่มาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ อย่างหลากหลาย อาทิ กิจกรรมสนุกคิดกับกิจกรรมบิงโก และตารางธาตุ เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ และชุดกิจกรรมคารีโอไทป์ สร้างสรรค์งานทางคณิตศาสตร์สู่การใช้โปรแกรม GSP การประดิษฐ์โมเดลคาร์บอน 60 เรียนรู้เรื่องหอย สอนฟิสิกส์ให้สนุก การเขียนโปรแกรมอย่างง่ายด้วย C# หาตำแหน่งดาวจากทรงกลมท้องฟ้าอย่างง่าย/ปริศนาดาวเคราะห์ เรียนรู้กิจกรรมจาก ICT ภาวะโลกร้อน / สืบหาสิ่งมีชีวิตในบรรพกาล การพัฒนาทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ทางด้านวิทย์-คณิต เทคนิคการใช้ การดูแลรักษา ปัญหาและสาเหตุเบื้องต้น สำหรับกล้องจุลทรรศน์ สนุกกับกิจกรรม การหาพื้นที่และความยาวรอบรูป กิจกรรมวัดแววอัจฉริยะ กิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับสนามแม่เหล็ก/วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย การทำสื่อการเรียนการสอนด้วยมัลติพอยท์ โดยใช้เมาท์หลายตัว
งานนี้สองสาวเพื่อนซี้อย่าง น้องซิกรอ หรือ เด็กหญิงเดือนทิพย์ มะแก้ว และน้องไฮรีนา เด็กหญิงไฮรีนา อันนันหนับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนธรรมมิสลาม จ.นนทบุรี ซึ่งทั้งคู่บอกว่า ชอบการทดลองวิทยาศาสตร์มาก เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ทางด้านวิชาการแล้ว ยังได้สนุกกับการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองอีกด้วย ในระหว่างที่ น้องซิกรอ กำลังสนุกสนานอยู่กับกิจกรรมสอนฟิสิกส์ให้สนุก เธอก็เล่าให้ฟังว่า
“หนูได้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากเลยค่ะ อย่างบูธนี้เป็นเรื่องของไฟฟ้าสถิต คือการที่เรานำลูกโป่งมาขัดถูให้เกิดความร้อนมันก็จะเกิดกระแสไฟฟ้า เมื่อเรานำไปใกล้กับทองแดงก็จะมีการเคลื่อนไหว โดยเกิดจากกระแสไฟฟ้าที่เราถู เหมือนกับการที่เราหวีผม เกิดการเสียดสี ทำให้มีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น ทำให้หนูได้รู้ว่าจริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ตัวเรานี่เองค่ะ”
ส่วนน้องไฮรีนา ก็ได้รับความรู้จากการทดลองมาไม่น้อย เธอเล่าว่า
“หนูได้เรียนรู้ในเรื่องของการหดตัวของอากาศค่ะ พี่ ๆ เค้าให้หนูทดลองเอาลูกโป่งไปใส่ในถังที่บรรจุไนโตรเจนเหลว ข้างในนั้นเย็นมาก ๆ เลยค่ะ พอใส่เข้าไปลูกโป่งก็จะแฟบมาก เพราะข้างในมีอากาศเย็นทำให้วัตถุเกิดการหดตัว อากาศในลูกโป่งก็เลยกลายเป็นของเหลว เกิดไอน้ำบริเวณผิวของลูกโป่ง แต่พอเอาลูกโป่งออกมาก็จะพองตัวกลับสภาพเดิมค่ะ เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงลูกโป่งก็เลยเปลี่ยนรูปทรง ก็เหมือนเราแช่น้ำแข็งในช่องแข็งที่มีความเย็นมาก น้ำก็เลยกลายเป็นน้ำแข็ง แต่เมื่อเรานำน้ำแข็งออกมาอุณหภูมิเปลี่ยน น้ำแข็งก็จะละลายกลายเป็นน้ำเหมือนเดิม วิทยาศาสตร์สนุกมาก และมีอะไรให้พวกเราค้นหาอีกเยอะเลยค่ะ” น้องไฮรีนากล่าว
ทางด้าน น้องออย หรือ เด็กหญิงทาริกา บุญมี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียน ศรีสุวิช จ.ชลบุรี ก็ได้ร่วมเรียนรู้ในของความเป็นกรด เป็นเบส น้องออยเล่าว่า
“ปกติหนูเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยเก่งค่ะ แต่พอได้ศึกษาและทดลองเรื่อย ๆ ก็รู้สึกชอบและอยากเรียนมากขึ้นค่ะ วันนี้หนูก็ได้เรียนรู้เรื่องความเป็นกรด เป็นเบส ซึ่งเปรียบเทียบกับร่างกายของคนเราได้ง่ายๆ คือ ตอนที่ปวดท้องกระเพาะแสดงว่าเรามีกรดเกินในกระเพาะอาหารอยู่ก็จะต้องทานยาลดกรดที่มีความเป็นเบสซึ่งจะเข้าไปปรับสภาพเพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารให้กลับมาเป็นปกติค่ะ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ยากอย่างที่คิดค่ะ ถ้าได้ลงมือทดลอง เพื่อน ๆ จะต้องสนุกและอยากจะเรียนรู้เหมือนอย่างน้องออยแน่นอนค่ะ” น้องออยเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ปิดท้ายกันที่หนุ่มน้อยอย่าง น้องน๊อต หรือ เด็กชายศตวรรษ สมบูรณ์รัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนศรีสุวิช จ.ชลบุรี ที่บอกว่านอกจากได้เรียนรู้เรื่องราวของวิทยาศาสตร์แล้ว เขายังได้รับความรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับสภาวะโลกร้อนอีกด้วย
“ผมได้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และภาวะโลกร้อนที่มันเชื่อมโยงกัน เพราะทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ล้วนเกี่ยวเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลทำให้บรรยากาศ สภาพภูมิอากาศ และธรรมชาติของโลกเราเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นผมว่าเราควรหันมาช่วยกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของเรา ด้วยการหันมาช่วยกันดูแลโลกของเรา ช่วยกันลดใช้พลังงาน และไม่ตัดไม้ทำลายป่ากันเถอะครับ” น้องน๊อตกล่าว
การเรียนรู้และได้ลงมือทดลองปฏิบัติจริงทำให้น้องๆ รู้สึกสนุกสนานกับการก้าวสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย เพียงแค่เข้าใจและสนุกไปกับมัน น้อง ๆ ก็จะได้รู้ว่าแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรานี่เอง
สอบถามรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
ส่วนประชาสัมพันธ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
โทร.02-712-3604,02-392-4021 หรือ www.ipst.ac.th
บริษัท มิกซ์ แอนด์ แมทซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โทร. 02 9677713-4 มือถือ 081 343 4576
e-mail : ying_mandm@yahoo.com