กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--บีโอไอ
รัฐมนตรีชาญชัย นำทีมบีโอไอ เอสเอ็มอีแบงก์ และสถาบันยานยนต์ เดินทางไปชักจูงการลงทุนจากสหรัฐฯ ณ เมืองซานฟรานซิสโก และแอลเอ หวังดึงบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ให้ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย พร้อมเปิดโต๊ะชี้แจงศักยภาพรองรับการลงทุน และเร่งหารือมาตรการหนุนผู้ประกอบการไทยขยายตลาดชิ้นส่วนยานยนต์
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-6 เมษายน 2553 นี้ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นหัวหน้าคณะนำนักธุรกิจไทย พร้อมด้วยหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ บีโอไอ สถาบันยานยนต์ และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เดินทางไปจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ เมืองซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยเป้าหมายสำคัญของกิจกรรมในครั้งนี้ คือการชี้แจงให้นักลงทุนได้รับทราบถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนความจริงใจในการดูแลแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงการให้ข้อมูลมาตรการใหม่ ๆ ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายการลงทุนอย่างยั่งยืนที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับสิ่งแวดล้อมสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ คณะมีกำหนดจะพบปะและเยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รายใหญ่ของสหรัฐทั้งในกลุ่มที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว อาทิ เวสเทิร์นดิจิตอล ฮิตาชิ โกลบอล สโตเรจ เป็นต้น และหารือร่วมกับ ผู้บริหารบริษัท ซิสโก ซิสเต็ม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านเทเลคอมรายใหญ่ของโลก และอยู่ระหว่างศึกษาลู่ทางการลงทุนเพื่อขยายตลาดด้านเทเลคอมในอนาคต โดยจะได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงนโยบายและแนวทางการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ที่มีความพร้อมในการรองรับการลงทุน และศักยภาพของการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในภูมิภาค
“ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของไทย อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จะตอกย้ำให้เห็นถึงมาตรการเชิงรุกของกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอ ในการเร่งสร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมในการรองรับการลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต รวมถึงการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในอนาคต” นางอรรชกา กล่าว
นางอรรชกา กล่าวว่า นอกจากนี้คณะยังจะหารือร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ได้เดินทางไปลงทุนและประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐแล้ว เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป อาทิ ผู้บริหารของ Lax-c Inc ผู้นำเข้าและส่งออกอาหารกระป๋องของไทยรายใหญ่ในสหรัฐ และผู้บริหาร Auto Tech ผู้ดำเนินธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ในสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาช่องทางการหาผู้ร่วมทุน กับผู้ประกอบการชิ้นส่วนของไทย เพื่อขยายตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในสหรัฐเพิ่มขึ้น
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญประเทศหนึ่ง ในการชักจูงการลงทุน จากต่างประเทศของบีโอไอ และได้มีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ และพบปะกับนักธุรกิจเป็นประจำ อย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือ เครื่องจักร อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเทคโนชีวภาพ อุตสาหกรรมมูลค่าสูง เช่น ซอฟต์แวร์ พลังงานทดแทน เป็นต้น
ทั้งนี้ในปี 2552 ที่ผ่านมา มีโครงการจากสหรัฐ ยื่นขอส่งเสริมแล้วทั้งสิ้น 56 โครงการ สูงกว่าปีก่อนหน้า 22 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 34,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากปี 2551 ซึ่งนับว่ามีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก ญี่ปุ่น และจีน สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 2 โครงการมุลค่า 38 ล้านบาท