กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ไอบีเอ็ม
ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีทางด้านเซนเซอร์ เช่น บาร์โค้ด หรืออาร์เอฟไอดี (Radio Frequency Identification) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในหลากหลายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงทางด้านอาหาร เนื่องจากประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การระบุตัวตนและข้อมูลของสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สินค้านั้นคืออะไร ผลิตที่ไหน โดยใคร ฯลฯ เป็นต้น และเปิดโอกาสให้การติดตามตรวจสอบย้อนกลับสามารถทำได้อีกด้วย นอกจากนั้น เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ปัจจุบันมีราคาถูกลง แต่ฉลาดและเก่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำงานส่งข้อมูลโต้ตอบกันได้ ทำให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งานแพร่หลายยิ่งขึ้น จนมีการประเมินกันว่า ภายในสิ้นปีนี้ มนุษย์แต่ละคนจะมีทรานซิสเตอร์หรืออุปกรณ์อาร์เอฟไอดีที่ทำงานเกี่ยวข้องต่อคนถึง 1 พันล้านชิ้นต่อคนต่อปี และจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นที่เป็นผลมาจากการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวทั้งหมดกว่า 15 เพทาไบท์ทั่วโลกทุกวัน ซึ่งกลายเป็นความท้าทายต่อมาว่าเราจะบริหารจัดการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดอย่างไร โดยเฉพาะทางด้านอาหาร
ไอบีเอ็มมีวิสัยทัศน์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านอาหาร (Smarter Food) ด้วยการนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้แก่
- ลดการสูญเสียโดยใช่เหตุ (Less Waste) ปัจจุบันนี้ มีประชากรกว่า 820 ล้านคนทั่วโลกที่ปัญหาเรื่องการขาดอาหาร ในทางตรงกันข้าม จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่ามากกว่า 50% ของอาหารที่ผลิตทั่วโลกจะมีการทิ้งอย่างสูญเปล่า หรือในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค มีการทิ้งอาหารอย่างสูญเปล่านับเป็นมูลค่ากว่า 48 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี
- ระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ฉลาดยิ่งขึ้น (Smarter Supply Chains) เคยมีการค้นพบว่า มะเขือเทศหนึ่งลูกในสหรัฐฯ จะเดินทางกว่า 1,200 ไมล์ และแครอทหนึ่งลูกจะเดินทางกว่า 1,600 ไมล์กว่าจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งหากมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะทำให้การจัดส่งมะเขือเทศหรือแครอททำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
- อาหารที่ปลอดภัย (Food Safety) จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับอาหารต่อปีถึง 76 ล้านคน และเข้ารับการรักษาพยาบาลจากเหตุดังกล่าว โดยเฉลี่ยต่อปี 325,000 คน รวมทั้งเสียชีวิตต่อมาอีกถึง 5,000 คน นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่นำเข้าเกือบ 60 % และอาหารทะเลถึง 75% แต่อาหารเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจริงจังเพียง 1% เท่านั้น หรือในสหภาพยุโรป มีการประเมินกันว่าเฉพาะการติดเชื้อโรคซาลมอนโนลาเพียงอย่างเดียว ทำให้สหภาพยุโรปต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านยูโรต่อปี
ปัญหาทางด้านการบริหารจัดการและความปลอดภัยด้านอาหาร
ประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาการบริหารจัดการ และปัญหาความปลอดภัยด้านอาหาร นับเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
- ปัญหาการเรียกคืนอาหารจากปัญหาด้านความปลอดภัย (Food Recall) ในปี 2550 มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารทั่วโลกกว่า 67% ต้องสูญเสียรายได้จากการเรียกคืนด้านอาหารเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านเหรียญ
- จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี พ.ศ.2542-2551 พบว่าอัตราผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่มีผลมาจากอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะในประเทศไทยมีมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากอาหารที่มีเชื้อโรคและการปนเปื้อน
การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาด้านอาหาร
เทคโนโลยีมีบทบาทในการลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหารได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับเพื่อทำให้ทราบต้นตอของปัญหาที่แท้จริงและแก้ปัญหาได้ถูกจุด เช่น
- ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภท จะมีผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตอาหารนั้น ๆ จำเป็นต้องมีความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของส่วนประกอบหรือส่วนผสมแต่ละชนิดของอาหารนั้นว่ามาจากแหล่งใด หรือผ่านขั้นตอนการผลิตอย่างไร ทำให้ในกรณีเกิดปัญหาหรือมีการปนเปื้อนของอาหาร จะทำให้การตรวจสอบทำได้สะดวกขึ้นว่ามีที่มาจากสาเหตุหรือส่วนประกอบชนิดใด
- ปี 2551 มีการค้นพบเชื้อโรค ซาลโมเนลลา (salmonella) ในอาหารในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าวกว่า 1,300 คน และคาดว่ามีที่มาจากมะเขือเทศ ด้วยการคาดคะเนดังกล่าว ทำให้มีการทำลายมะเขือเทศทิ้งเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญ หลังจากนั้น เมื่อมีการตรวจสอบย้อนกลับทำให้มีการค้นพบต้นเหตุที่แท้จริงของเชื้อโรคดังกล่าวว่า แท้ที่จริงแล้วมาจากพริกฮาลาเพนอสของเม็กซิโก (Mexican Jalapenos) ไม่ได้มาจากมะเขือเทศแต่อย่างใด
ปัจจุบัน เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดและการตรวจสอบย้อนกลับสามารถทำได้ตั้งแต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าที่อาหารนั้นวางจำหน่าย ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่ง ไปจนถึงฟาร์มหรือแหล่งผลิตต้นตอของอาหารนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านอาหาร และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหารให้แก่ผู้บริโภคไปในเวลาเดียวกัน
ไอบีเอ็ม และเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID)
- ไอบีเอ็ม ถือเป็นผู้ที่นำอาร์เอฟไอดีมาใช้ประโยชน์ในลำดับแรก ๆ และมีส่วนในการพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านอาร์เอฟไอดีมากมาย เช่น หน่วยงานอีพีซีโกลบอล (EPCglobal) ผู้ที่คิดค้นมาตรฐาน EPCIS อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับอาร์เอฟไอดีในสหรัฐฯ ล่าสุดถึง 30 รายการ
- ไอบีเอ็มมีโซลูชันทางด้านซอฟต์แวร์และบริการหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับอาร์เอฟไอดี (แต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาร์เอฟไอดีแท๊ก) และมีศูนย์ทดสอบทางด้านอาร์เอฟไอดีในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น
- ไอบีเอ็มได้นำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอาร์เอฟไอดีไปสนับสนุนธุรกิจและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จต่าง ๆ ของธุรกิจมากมาย เช่น ธุรกิจยา ค้าปลีก รถยนต์ สาธารณสุข หรือองค์กรภาครัฐฯ เป็นต้น
ตัวอย่างขององค์กรที่ใช้เทคโนโลยีของไอบีเอ็มเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านอาหาร
- นอทูรา (Nortura) บริษัทผู้จำหน่ายอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนอร์เวย์ ใช้โซลูชันอาร์เอฟไอดีที่ไอบีเอ็มร่วมมือพัฒนากับบริษัท มาทิค (Matiq) บริษัทที่ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในเครือของนอทูรา เพื่อทำให้การตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ สามารถทำได้อย่างละเอียดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นวางผลิตภัณฑ์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตไปจนถึงฟาร์มต้นตอที่เลี้ยงสัตว์นั้น ๆ
- เมโทรกรุ๊ป (METRO Group) บริษัทที่ทำธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี เจ้าของร้าน METRO Future Store ใช้ซอฟต์แวร์และบริการของไอบีเอ็มในการเก็บและบริหารจัดการข้อมูลด้านการจัดเก็บและตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ในร้านค้าต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ข้อมูลการเก็บ วันหมดอายุ ประเภทของสินค้า หมายเลขสินค้า หรือแม้กระทั่งข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโปรโมชันของร้าน เป็นต้น ในกรณีที่สินค้านั้นมีปัญหาหรือจำเป็นต้องมีการเรียกคืน การค้นหาต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาจะสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
- รัฐบาลเวียดนาม เมื่อปี 2552 ไอบีเอ็มร่วมมือกับบริษัท เอฟเอ็กซ์เอ จำกัด พัฒนาโซลูชันเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบย้อนกลับอาหารทะเลส่งออกของเวียดนามด้วยการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีให้กับสมาคมผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเล (Vietnam Association of Seafood Exporters and Producers) และหน่วยงานที่ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Vietnamese State Agency For Technical Innovation) ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้การส่งออกอาหารทะเลของเวียดนามต่อประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งมีมูลค่ากว่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี มีประสิทธิภาพดีขึ้นและช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของเวียดนามต่อประเทศผู้นำเข้าไปพร้อม ๆ กันด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันและวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็มที่สนับสนุนการบริหารจัดการอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ (Smarter Food) สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/smarterplanet/us/en/food_technology/ideas/index.html?re=sph หรือ www.ibm.com/software/data/infosphere/traceability-server/ หรือ www.ibm.com/systems/x
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร
โทร : 02 273 4117
อีเมล์: werakit@th.ibm.com