เครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายตลาดโลกสดใส เครื่องดื่มชูกำลังขาลง “สถาบันอาหาร” ชี้โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2010 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สถาบันอาหาร แนวโน้มตลาดเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายในตลาดโลกกระแสแรงสวนทางตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีแนวโน้มตลาดซบเซาลง เผยรายงานจาก Mintel GNDP ชี้ปี 2552 มีผู้ผลิตเครื่องดื่มเปิดตัวเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายชนิดใหม่ถึง 150 ผลิตภัณฑ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 61.3 ในขณะที่ปี 2552 มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังชนิดใหม่เพียง 682 ผลิตภัณฑ์ ลดลงจากปี 2551 ถึงร้อยละ 18.8 “สถาบันอาหาร” คาดกระแสกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง มีอนาคตทางการตลาดเทียบเคียงตลาดโลก เป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทยหันประยุกต์สมุนไพรไทยมาใช้เป็นส่วนประกอบ เผยแพร่สรรพคุณของสมุนไพรไทยให้ตลาดโลกรับรู้อย่างกว้างขวางในอนาคต นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “แม้ว่าตลาดของเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่ในปีที่ผ่านมาเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายสามารถขยายตลาดและกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นได้อย่างเด่นชัด โดยรายงานจากฐานข้อมูลของ Mintel GNDP ปี 2552 พบว่ามีผู้ผลิตเครื่องดื่มเปิดตัวเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายชนิดใหม่ถึง 150 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 61.3 ซึ่งมีการเปิดตัวเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายชนิดใหม่เพียง 93 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งในสหรัฐอเมริกาได้มีการนำร่องเก็บภาษีจากเครื่องดื่มกลุ่มดังกล่าวแล้ว ส่วนในประเทศที่สนับสนุนแนวคิดของเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลาย เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และประเทศไทย ยังไม่มีการดำเนินการเก็บภาษีใด ๆ จากกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ดีของผู้ประกอบการให้สามารถขยายตลาดเครื่องดื่มชนิดนี้ได้” นอกจากนี้ การศึกษาของ Mintel GNDP พบว่า กลุ่มตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง มีแนวโน้มของตลาดซบเซาลง โดยในปี 2552 มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังชนิดใหม่เพียง 682 ผลิตภัณฑ์ ลดลงจากปี 2551 ถึงร้อยละ 18.8 ซึ่งมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ถึง 840 ผลิตภัณฑ์ โดยในสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้นำในการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังของโลก มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ในปี 2552 เพียง 137 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งหดตัวลดลงจากปี 2551 ถึง ร้อยละ 64.2 ที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ถึง 383 ผลิตภัณฑ์ และในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น สหราชอณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนีนั้น มีตัวเลขของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “จากกระแสของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ทำให้เครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลาย เป็นสินค้าที่เริ่มมีแนวโน้มที่น่าสนใจในตลาดโลก ซึ่งจากการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์สถาบัน Zenith International มองว่าแนวโน้มการพัฒนาสูตรของเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายในอนาคต คือลดการใช้สารเคมีที่ทำให้ผ่อนคลาย (Relaxant) และเน้นการใช้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยให้เกิดการผ่อนคลายมาเป็นส่วนประกอบทดแทนมากขึ้น เช่น Melissa balm คาโมมายล์ และลาเวนเดอร์ สำหรับในประเทศไทยนั้น คาดว่ากระแสของกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีโอกาสทางการตลาดที่สดใสในอนาคตเช่นเดียวกับในตลาดโลก เห็นได้จากเริ่มมีผู้ผลิตเครื่องดื่มในไทยบางราย นำคาโมมายล์มาใช้เป็นส่วนผสมโดยมีวัตถุประสงเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการผ่อนคลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น น้ำผลไม้ น้ำชา น้ำเก๊กฮวย นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์นำสมุนไพรไทยมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายได้อีกหลายชนิด เช่น ดอกและใบอ่อนของต้นขี้เหล็ก ตะไคร้ ขิง พริกไทย ชุมเห็ดไทย ดอกบัวหลวง พลู พวงชมพูดอกขาว เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยทีมงานนักวิจัยไทยพัฒนาสูตรเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลายจากสมุนไพรไทย ให้มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการเผยแพร่สรรพคุณของสมุนไพรไทยให้ตลาดโลกรับรู้ต่อไปในอนาคตด้วยครับ” รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ