กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
นับจากย่างเข้าศักราชใหม่ 2553 ปีเสือดุภาพรวมของเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้แล้วอย่างชัดเจน หลายตัวชี้วัดมีสัญญาณสดใส รวมทั้ง IMF ออกมาประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.9% ขณะที่ประเทศไทยจะขยายตัวได้ 4.7% สำหรับภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประเมินอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปีนี้ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะขยายตัวระหว่าง 6-8% นับเป็นสัญญาณที่ดีเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเหรียญมีสองด้านการประเมินสถานการณ์ต้องมองแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดบ้างเป็นธรรมดา สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.จึงได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2553 : ผลกระทบต่อมูลค่าการผลิต การจ้างงาน กำไรธุรกิจและรายได้ของปัจจัยการผลิต” เพื่อเจาะลึกถึงทิศทางการขยายตัวครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อภาคอุตสาหกรรมและเพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมว่าส่งผลกระทบอย่างไร มูลค่าผลผลิตในแต่ละสินค้า รวมถึงความสามารถในการจ้างงาน ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ มูลค่าของปัจจัยการผลิต และรายได้ของภาครัฐ
โดยในการศึกษาได้แบ่งสมมติฐานออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในปี 2553 ขยายตัว 6% จากปี 2552
กรณีที่ 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในปี 2553 ขยายตัว 7% จากปี 2552
กรณีที่ 3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในปี 2553 ขยายตัว 8% จากปี 2552
ซึ่งจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้างต้น ผลการศึกษาที่ได้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อมูลค่าผลผลิต
ผลการศึกษาในส่วนนี้เป็นการแสดงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อมูลค่าผลผลิต โดยจากการศึกษาพบว่าถ้า MPI ในปี 2553 ขยายตัวระหว่าง 6-8% จากปี 2552 จะส่งผลให้มูลค่าผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 322,866 - 430,488 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 3.9% - 5.2% ดังแสดงในตารางที่ 1
เมื่อพิจารณาผลจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI เป็นรายสาขา พบว่า สาขาที่มีมูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม รองลงมาคือการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ ตามลำดับ โดยมีมูลค่าผลผลิต 21,335 - 28,447 ล้านบาท, 19,785 - 26,379 ล้านบาท และ 17,082 - 22,776 ล้านบาท ตามลำดับ และมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 3.4-4.5%, 5.1-6.9% และ 3.9-5.2% ตามลำดับ ดังตารางที่ 2
2. การเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อความสามารถในการจ้างงาน
ส่วนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อความสามารถในการจ้างงานนั้น จากการศึกษาพบว่าถ้า MPI ในปี 2553 ขยายตัวระหว่าง 6-8% จากปี 2552 จะส่งผลให้ความสามารถในการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป 142,000 - 190,000 คน หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 2.6% — 3.4% ดังแสดงในตารางที่ 3
เมื่อพิจารณาผลจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI เป็นรายสาขา พบว่า สาขาที่มีผลทำให้ความสามารถในการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือ การผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามลำดับ โดยมีความสามารถในการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 12,570 - 16,760 คน 10,570 - 14,100 คน และ 8,900 — 11,860 คน ตามลำดับ และมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 3.8-5.0 %, 2.0-2.7% และ 2.6-3.5% ตามลำดับดังตารางที่ 4
3. การเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจพบว่า ถ้า MPI ในปี 2553 ขยายตัวระหว่าง 6-8% จากปี 2552 จะส่งผลให้มูลค่ากำไรธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป 47,542 - 63,390 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวระหว่าง 6.8 — 9.0% ดังแสดงในตารางที่ 5
4. การเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อรายได้ของปัจจัยการผลิต
ผลการศึกษาในส่วนนี้เป็นการแสดงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อรายได้ของปัจจัยการผลิต จากการศึกษาพบว่า ถ้า MPI ในปี 2553 ขยายตัวระหว่าง 6-8% จากปี 2552 จะส่งผลให้รายได้ของแรงงานเปลี่ยนแปลงไป 35,462 - 47,283 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7 — 2.3% และรายได้ของทุน จะอยู่ที่ช่วง 88,123 - 117,497 ล้านบาท หรือส่งผลให้การอัตราการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.1 — 2.7 % ดังแสดงในตารางที่ 6
5. การเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อรายได้ของรัฐ
ส่วนนี้เป็นการแสดงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ MPI ที่ส่งผลต่อรายได้ของรัฐบาลจากการศึกษาพบว่า ถ้า MPI ในปี 2553 ขยายตัวระหว่าง 6-8% จากปี 2552 จะส่งผลให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 24,054 ถึง 32,072 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.5 — 2.1% ดังแสดงในตารางที่ 7
จากบทวิเคราะห์เรื่อง “ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2553: ผลกระทบต่อมูลค่าการผลิต การจ้างงาน กำไรธุรกิจ และรายได้ของรัฐ” คงทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าในปีเสือดุ ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมจะก้าวไปในทิศทางใด แนวโน้มการขยายตัวจะไปต่อหรือว่าอยู่แบบเสมอตัว ย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันยับยั้งปัจจัยลบที่จะมากระทบบรรยากาศของการขยายตัวครั้งนี้ ภาคเอกชนเองเมื่อเห็นทิศทางก้าวไปก็ต้องหันมามองการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีคุณภาพอย่าได้เกิดภาพซ้ำอดีต เพียงแค่นี้เมื่ออุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง เช่นกัน