กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ชี้ปี 2550 ธุรกิจสำนักพิมพ์ขยายตัวต่อเนื่อง คาดยอดขายรวม 18,500 ล้านบาท เติบโตเป็นปกติร้อยละ 10 ร้านหนังสือแบบ เครือข่ายหรือ Chain Store มาแรง แซงแบบ Stand Alone แนวโน้มร้านสะดวกซื้อและขายตรงผ่าน อินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสูง เผยปี 2549 คนไทยใช้เงินแค่ 260 บาทต่อปีซื้อหนังสืออ่าน..นวนิยาย การ์ตูน และหนังสืออ่านเล่น ยังได้รับความนิยมสูงถึงร้อยละ 45 ส่วนธุรกิจ e-magazine และ e-book เป็นแนวโน้มใหม่เอาใจนักอ่านออนไลน์ที่มีสูงถึง 4 ล้านคน หนุนภาครัฐสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้คนไทยอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อแข่งขันกับสื่อเพื่อความบันเทิงอื่นๆ
นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยว่า ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือเล่มหรือพ็อกเก็ตบุ๊คในประเทศไทย ยังคงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มของการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปี 2549 ประเทศไทยจะพบกับวิกฤติด้านการเมือง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และปัญหาน้ำท่วม แต่คาดว่าในปี 2549 จะยังคงมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 10-12 หรือมียอดขายรวม 16,800 ล้านบาท
ในขณะที่ปี 2550 แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากเหตุการณ์ทางการเมือง ปัญหาความไม่สงบจาก เหตุการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร และเหตุการณ์คลื่นใต้น้ำในจังหวัดต่างๆ แต่อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันเริ่มคงที่ ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้าน “คน” มากขึ้น เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโต ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือมียอดขายรวมทั้งระบบไม่น้อยกว่า 18,500 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจสำนักพิมพ์ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 374 สำนักพิมพ์ ในปี 2546 เป็น 492 สำนักพิมพ์ในปี 2549 หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.55 ในขณะที่ร้านหนังสือ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในปี 2549 มีการเติบโตสูงขึ้นมากแบบก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณร้อยละ 50 กล่าวคือในปี 2549 มีจำนวน 1,309 ร้าน ในขณะที่ปี 2548 มีจำนวน 848 ร้าน เนื่องจากนโยบายเพิ่มสาขาของร้าน Book Smile ทั้งนี้ทิศทางการเติบโตของร้านหนังสือโดยรวมเป็น การเติบโตจากร้านหนังสือเครือข่าย (Chain Stores) ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ของตลาดร้านหนังสือ
ทั้งระบบ กล่าวคือในปี 2549 มีร้านหนังสือเครือข่ายจำนวน 763 ร้าน ขณะที่ร้านหนังสือแบบ Stand Alone มีจำนวน 546 ร้าน ส่งผลให้สำนักพิมพ์ต้องพึ่งพิงร้านหนังสือเครือข่ายมากขึ้น ซึ่งร้านหนังสือเครือข่ายจะช่วยให้ประสิทธิภาพในกระบวนการจัดจำหน่ายและการกระจายหนังสือดีขึ้น โดยปัจจุบันช่องทางขายผ่านร้านจำหน่ายหนังสือยังเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านร้านสะดวกซื้อและการขายตรงผ่านอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มจะมีบทบาทมากขึ้น สำหรับในกรุงเทพฯงานแสดงหนังสือยังเป็นช่องทางขายสำคัญของ สำนักพิมพ์โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก
คาดว่าปี 2549 จะมียอดขายหนังสือรวมประมาณ 16,800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มียอดขายรวม 15,000 ล้านบาท เท่ากับมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยหนังสือที่มีส่วนผลักดันการเติบโตก็คือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และหนังสือแนวธรรมะและการพัฒนาตัวเอง ตลอดจนหนังสือกลุ่มเยาวชนที่ยังคงมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงจากสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ หรือจากวีซีดี และดีวีดี เพราะง่ายแก่การรับ และตรงกับความชอบของคนไทย ที่ชอบฟัง และดู มากกว่าการอ่าน เห็นได้จากผลสำรวจพฤติกรรม การอ่านของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2548 ที่พบว่า คนไทยสนใจอ่านจากอินเทอร์เน็ตคิดเป็นอัตราร้อยละ 10.2 ของจำนวนผู้อ่านทั้งประเทศประมาณ 40.9 ล้านคน หรือสรุปได้ว่ามีประมาณ 4 ล้านคนที่อ่านจาก อินเทอร์เน็ต ฉะนั้นงานเขียนผ่านอินเทอร์เน็ตจึงเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของสำนักพิมพ์ โดยล่าสุด มีองค์กรเอกชนหลายแห่งได้ขยายธุรกิจไปสู่ e-magazine และ e-book แม้ในปัจจุบันจะยังมีปริมาณ ธุรกรรมไม่มากนัก แต่เห็นได้ว่า e-book จะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักพิมพ์ทั้งหลายควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านของประชาชนในอนาคต
นายธนะชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้คนไทยจะมีการใช้เงินเพื่อซื้อหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโตในปี 2549 เกือบร้อยละ 10 แต่ก็เพียง 260 บาทต่อคนต่อปี และเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัว คิดเป็นเงินเพียงร้อยละ 0.18 ต่อรายได้ต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน “ความรู้” มากเพียงพอ ประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจการใช้เวลาอ่านหนังสือของประชากรปี 2544 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยเข้าห้องสมุดเฉลี่ยคนละ 0.02 นาที เชื่อว่าคนไทยใช้เวลาว่างอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 2 เล่ม
โดยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากร ปี 2548 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเภทหนังสือที่ประชาชนให้ความสนใจอ่านมากเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ นวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น คิดเป็นร้อยละ 45.4 และนิตยสาร คิดเป็นร้อยละ 36.9 ส่วนตำราเรียนมีผู้อ่านคิดเป็นร้อยละ 34.4 เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คนไทยยังชอบอ่านหนังสือที่ไม่หนักเกินไป
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่อ่านนั้น ร้อยละ 48.8 ให้เหตุผลว่าเพราะชอบดูทีวีมากกว่า รองลงมาคือร้อยละ 36 ไม่มีเวลาอ่าน สันนิษฐานว่าเพราะใช้เวลาไปกับการจราจร และ สันทนาการนอกบ้านมากเกินไป แสดงให้เห็นว่าคนไทยชอบดู ชอบฟังมากกว่าอ่าน และการสร้าง วัฒนธรรมการอ่านกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยและการแข่งขันข้าม อุตสาหกรรมจากสื่ออื่นๆ
“ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีนโยบายระดับชาติที่จะสนับสนุนธุรกิจการผลิตหนังสือหรือสำนักพิมพ์ มีแต่สนับสนุนธุรกิจการพิมพ์ หรือโรงพิมพ์เท่านั้น เนื่องมาจากความไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง สำนักพิมพ์ (Publisher) ซึ่งเป็นวงการหนังสือโดยตรงเป็นผู้คิดค้นสร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้คนในสังคมในรูปของหนังสือ ขณะที่โรงพิมพ์ (Printing House) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่รับพิมพ์งานตามที่ สำนักพิมพ์ได้จัดทำเป็นรูปเล่มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ ที่รัฐบาลเขาให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพของคน ด้วยการสนับสนุนสำนักพิมพ์ในประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สำนักพิมพ์มีศักยภาพที่เข้มแข็งในการผลิตหนังสือที่หลากหลายและจำเป็นในสังคม ดังนั้นรัฐบาลจึงควรกำหนดกลยุทธ์ผลักดันให้คนไทยมีอุปนิสัยในการอ่านคือ 1. ควรปรับปรุงระบบการเรียนการสอนและระบบการประเมินผลที่เอื้อต่อการผลักดันนักเรียนให้ต้องอ่านหนังสือเพิ่ม 2. กำหนดนโยบายรัฐที่ให้นักเรียนทั่วประเทศอ่านหนังสือนอกเวลาอย่างน้อยคนละ 1 เล่ม ต่อเดือน 3. ให้ธุรกิจหนังสือเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 4. สนับสนุนการวิจัยระดับชาติในเรื่องการผลิตหนังสือและการอ่านของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 5.เพิ่มจำนวนห้องสมุดโดยส่งเสริมให้สถานประกอบการทุกแห่งจัดมุมหนังสือหรือห้องอ่านหนังสือเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงส่งเสริมให้มีห้องอ่านหนังสือหรือมุมหนังสือในสถานบริการสาธารณะ เช่น ศูนย์การค้า โรงพยาบาล สถานีขนส่ง เป็นต้น” นายธนะชัย กล่าวถึงแนวทางการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทรศัพท์ 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net