กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--เครือสหวิริยา
กลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งในอ่าวบางสะพาน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบางสะพาน, อำเภอบางสะพานน้อย ร่วมกับเครือสหวิริยา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จัดงานสัมมนาเพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก” ถ่ายทอดความรู้ร่วมกันผนึกประสบการณ์สร้างเครือข่ายฯ ให้เข้มแข็ง
เครือข่ายกลุ่มประมงชายฝั่งอ่าวบางสะพาน จับมือกันจัดตั้ง “เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก” ขึ้น โดยมีศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เครือสหวิริยา ร่วมให้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ประเดิมด้วยการเชิญวิทยากรจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (ภูเก็ต) นางกาญจนา อดุลยานุโกศล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ทะเลหายาก ระดับประเทศ พร้อม สัตว์แพทย์ของสถาบันฯ มาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน รวมทั้งการให้ความรู้การทำประมงอย่างยั่งยืนจาก นายลิขิต บุญสิทธิ์ วิทยากรจากสำนักงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายปกรณ์ ปุริมอติกานต์ รองประธานศูนย์บริหารจัดการและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เครือสหวิริยา กล่าวว่า “แนวคิดของการจัดตั้งเครือข่ายฯ เกิดจากอำเภอบางสะพานรวมถึงบางสะพานน้อย เป็นพื้นที่ที่พบสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล, โลมา, ฉลามวาฬ อยู่บ่อยครั้ง ในหลายครั้งการประมงที่ไม่ถูกวิธีกลายเป็นรบกวนสัตว์เหล่านั้น หรือการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากขณะบาดเจ็บ ซึ่งชาวประมงก็จะแจ้งไปยังหน่วยงานราชการที่อยู่ห่างไกลออกไป จะเกิดการล่าช้าเกินไป สัตว์ทะเลหายากที่พบก็อาจเสียชีวิตแล้ว ดังนั้น ศูนย์ฯ สิ่งแวดล้อมเครือสหวิริยา และกลุ่มชาวประมงชายฝั่งจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรที่จะมีการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของราชการในการอนุรักษ์และเฝ้าระวังสัตว์ทะเลหายาก การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการให้ความรู้พื้นฐานการปฏิบัติเมื่อพบสัตว์ทะเลหายากในสภาพต่างๆ และการทำประมงชายฝั่งโดยไม่รบกวนสัตว์ทะเลหายากเหล่านั้น รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันของทุกฝ่าย และกิจกรรมในต่อๆ ไปก็จะเน้นเรื่องการเฝ้าระวังและวิธีที่จะอยู่ร่วมกัน และอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากให้อยู่คู่กับเราต่อไป”
ด้านนายสุนทร รสดี หัวหน้ากลุ่มประมงบ้านหนองเสม็ด อำเภอบางสะพานน้อย กล่าวว่า “กิจกรรมครั้งนี้นับว่าดีมาก เพราะถือว่าเป็นการรวมตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลหายาก คือกลุ่มประมงทุกกลุ่มในอำเภอบางสะพาน และบางสะพานน้อย ก็อยากให้กิจกรรมนี้เกิดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และขยายออกไปหลายๆ กลุ่ม จะได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ร่วมกันให้มากขึ้น จริงๆ แล้วเครือข่ายกลุ่มประมงทั้งหมดก็มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่บ้าง เพียงแต่หากมีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังฯ ให้เป็นรูปธรรม โดยมีเครือสหวิริยาสนับสนุนก็จะดีมากขึ้น เหมือนกับมีผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการมีวิทยากรมาให้ความรู้แบบนี้ก็ดีมาก เพราะกลุ่มประมงก็ได้รับความรู้ และได้ส่งผ่านประสบการณ์ตรงไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบด้านนี้ ทำให้เกิดการสื่อสาร 2 ทางแบบรวดเร็วและถึงตรง หากมีปัญหาหรือมีแนวทางการดำเนินงานก็เกิดความร่วมมือกันอย่างรวดเร็ว เพราะการช่วยเหลือหรือการดูแลสัตว์ทะเลหายากนั้นไม่ควรรอช้า” นายสุนทรกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2285 3101 - 10 # 601-603 ทีมสื่อสารเครือสหวิริยา