กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา ขนมขบเคี้ยวแบบแท่งเพื่อสุขภาพ “ซี-ไรซ์” จากข้าวและธัญพืช ระบุมีสารอาหารครบถ้วนทั้งโปรตีน ใยอาหาร แร่ธาตุ วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ คิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ใหม่เสริมคุณค่าทางโภชนาการเพื่อผู้บริโภคทุกวัย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเป็นอาหารว่างของคนยุคใหม่
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. ได้พัฒนา “ซี-ไรซ์” ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ โดยดำเนินการวิจัยอย่างครบวงจรตั้งแต่ การสำรวจข้อมูลทางการตลาดเบื้องต้น การศึกษาผลิตภัณฑ์ต้นแบบพร้อมทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค ทดลองผลิตภัณฑ์ทางการตลาด รวมทั้งศึกษาอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ ที่ วว. พัฒนาขึ้นใช้วัตถุดิบหลักที่หาได้จากภายในประเทศ ได้แก่ ข้าวและธัญพืช เช่น ถั่วลิสง งา เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน อัลมอลด์ ผลไม้อบแห้ง และน้ำผึ้ง โดยผลิตภัณฑ์ได้ปรับแต่งกลิ่น รสชาติและเนื้อสัมผัสของขนมและเสริมคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมกับวัยของกลุ่มผู้บริโภค 3 วัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร แร่ธาตุ วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ แต่มีปริมาณไขมันและน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับนำไปรับประทานทดแทนมื้ออาหารหรือทานเล่นในยามว่าง
“...ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2553 จะมีมูลค่าทางการตลาดถึง 1.66 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันไทยนำเข้าขนมขบเคี้ยวที่ทำจากธัญพืชเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของขนมขบเคี้ยวที่นำเข้าทั้งหมด ดังนั้น วว.จึงได้พัฒนา “ซี-ไรซ์” ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพโดยใช้วัตถุดิบหลักจากภายในประเทศ อีกทั้งยังได้พัฒนาสูตรและรสชาติของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัย โดยผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นับเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ วว.ที่คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักอย่างแท้จริง ทั้งนี้ วว.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซี-ไรซ์ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์” นางเกษมศรี หอมชื่น กล่าวเพิ่มเติม
นายศรีศักดิ์ ตรังวัชรกุล ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนา “ซี-ไรซ์” ทีมนักวิจัยได้ประยุกต์ใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล หรือ น้ำตาลแอลกอฮอล์ ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะให้ความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลแต่ให้พลังงานต่ำกว่า ร่างกายจะดูดซึมได้ช้า ทนอุณหภูมิสูงได้ดี ไม่เกิดการตกผลึกและกลิ่นรสที่เปลี่ยนแปลงไป อักทั้งยังช่วยให้ผิวอาหารมีความเงางามน่ารับประทานอีกด้วย สำหรับผลการศึกษาในด้านอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์สามารถเก็บได้ 3-4 เดือนในถุงอลูมิเนียมฟอยล์บรรจุก๊าซไนโตรเจน ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ส่วนผลการทดสอบความชอบและการยอมรับของผู้บริโภคในกลุ่มเป้าหมายแต่ละวัย พบว่า ความชอบอยู่ในระดับชอบปานกลาง-ชอบมาก
นอกจากนี้ฝ่ายเทคโนโลยีอาหารยังได้ร่วมกับฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ศึกษาต่อยอดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากธัญพืชโดยเติมสารเบต้ากลูแคนที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพพัฒนาขึ้น มีคุณสมบัติเป็นใยอาหารที่เป็นพรีไบโอติก และมีไขมันต่ำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้มภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการเกิดโรคจากไวรัส ราและแบคทีเรีย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซ่อมแซมเซลล์ผิวเก่าและยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งอีกด้วย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ปนิดา บรรจงสินศิริ หรือ คุณกฤตลักษณ์ ปะสะกวี โทร 0 2577 9135 และ 0 2577 9130 หรือ Call Center วว. โทร. 0 2579 3000 ในวันและเวลาราชการ www.tistr.or.th